ผู้แทนการค้าไทย หารือฝ่ายศก.สหรัฐฯ กระชับสัมพันธ์การค้า-การลงทุน หนุนพัฒนาทักษะแรงงานไทย
26 มิ.ย. 2567, 15:08
วันนี้ ( 26 มิ.ย.67 ) ดร. นลินี ทวีสิน พบหารือนายแอนดรูว ชอว (Andrew Shaw) ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ปลื้มบริษัท Harman เตรียมเปิดโรงงานผลิตแห่งใหม่ในไทยในพื้นที่แหลมฉบัง ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญภายใต้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พร้อมเชิญชวนบริษัทอื่น ๆ ลงทุนในไทยเพิ่มเติม พร้อมหารือความร่วมมือการพัฒนาทักษะแรงงานไทย ให้พร้อมรับการลงทุนสมัยใหม่ รวมทั้งยืนยันเจตนารมณ์ของไทย ในการมุ่งสู่การเป็นประเทศที่ส่งเสริมการทำประมงอย่างยั่งยืน และปลอดจาก การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม
ดร. นลินี ทวีสิน เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายแอนดรูว ชอว เห็นพ้องถึงความสำคัญของการลงทุนจากบริษัท Harman บริษัทด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ผลิตสินค้าเครื่องเสียงและลำโพง ชั้นนำภายใต้แบรนด์ อาทิ Harman Gardon, Bang & Olufsen, JBL และ Infinity ตลอดจนเทคโนโลยี ล้ำสมัย เช่น Augmented Reality (AR) และ Artificial Intelligence (AI) เพื่อยกระดับประสบการณ์ด้านยานยนต์ให้กับผู้บริโภค อีกทั้งยังได้รับเลือกให้เป็นผู้ติดตั้งระบบเสียงในโครงการปรับปรุงสนามราชมังคลากีฬาสถาน โดย Harman ได้มีการก่อสร้างโรงงานผลิตในไทยโดยใช้เงินลงทุนกว่า 80 ล้านเหรียญสหรัฐ และจะเกิดการจ้างงานคนไทยประมาณ 1,200 คน โดยการลงทุนของ Harman เป็นการยืนยันถึงความพร้อมของไทยในการรับการลงทุนขนาดใหญ่จากต่างชาติ โดยเฉพาะการให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนที่ดี และตนคาดหวังว่าจะมี การลงทุนเพิ่มเติมจากบริษัทขนาดใหญ่อื่น ๆ ของสหรัฐฯ
ผู้แทนการค้าไทยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตนยังได้หารือกับฝ่ายสหรัฐฯ ถึงการขอรับการสนับสนุนในด้านการศึกษา โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะทั้ง upskill และ reskill เพื่อยกระดับคุณภาพแรงงานให้สามารถรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมก้าวหน้า โดยนายแอนดรูว ชอว ได้รับฟังข้อเสนอดังกล่าวและยังได้กล่าวถึงโครงการ International Academic Partnership Program (IAPP) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการยกระดับความสำคัญในการเพิ่มจำนวนและความแข็งแกร่งของความร่วมมือระหว่างประเทศระหว่างสถาบันอุดมศึกษาของสหรัฐอเมริกาและไทย
นอกจากนี้ ดร. นลินีฯ ยังได้ใช้โอกาสนี้ยืนยันเจตนารมณ์ของไทยในการมุ่งสู่ การเป็นประเทศที่ส่งเสริมการทำประมงอย่างยั่งยืน และปลอดจากการทำประมง ผิดกฎหมายฯ ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการควบคุมการจัดทำการประมง และการติดตามเฝ้าระวังการทำประมง ที่ไม่ขัดต่อหลักการการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ตามกฎหมายสากลและพันธกรณีระหว่างประเทศ พร้อมทั้งเปิดรับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างรอบด้าน ในกระบวนการแก้ไขกฎหมายประมง โดยหลักการสำคัญที่ไทยยึดถือคือความสมดุลระหว่างคุณภาพชีวิตของชาวประมงและการทำประมงที่ยั่งยืน