เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สทนช.งัด 8 มาตรการรับมือหน้าแล้ง บริหารจัดการน้ำอุบลราชธานี-ลุ่มน้ำมูล


27 ต.ค. 2562, 20:54



สทนช.งัด 8 มาตรการรับมือหน้าแล้ง บริหารจัดการน้ำอุบลราชธานี-ลุ่มน้ำมูล




วันนี้ ( 27 ต.ค.62 ) นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงมาตรการและแนวทางการเตรียมความพร้อมหน้าแล้ง 2562/63 สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำมูลตอนล่างและจังหวัดอุบลราชธานี 8 มาตรการหลัก ว่า การบริหารจัดการน้ำสำหรับหน้าแล้ง ต้องบริหารจัดการร่วมเน้นน้ำอุปโภค-บริโภคเป็นอันดับแรก มีปริมาณน้ำต้นทุนจากต้นน้ำลุ่มน้ำชีและมูลน้อยกว่าปกติ จำเป็นต้องใช้น้ำต้นทุนจากด้านท้ายน้ำจากเขื่อนสิรินธรเป็นน้ำต้นทุนน้ำอุปโภค-บริโภค และใช้เขื่อนปากมูลทดระดับน้ำมูลไม่ให้ต่ำกว่าระดับ 107.5 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยทดระดับให้สูงขึ้นเสมอกันจากหน้าเขื่อนปากมูลถึง M.7 อำเภอเมืองอุบลราชธานี เพื่อความมั่นคงของน้ำอุปโภค-บริโภค หากระดับน้ำสูงมากกว่า 107.5 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง จะระบายน้ำออกจากเขื่อนปากมูลผ่านเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า รายงานข้อมูลปริมาณน้ำ ระดับน้ำ การใช้น้ำ การระบายน้ำของเขื่อนต่างๆ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและปรับเปลี่ยนแนวทางบริหารจัดการน้ำตามสถานการณ์ได้ทันและติดตามข้อมูลคุณภาพน้ำ 

น้ำสำหรับประปาควรมีแผนสำรอง ในกรณีเกิดวิกฤติขาดน้ำ พื้นที่เกษตรนอกเขตชลประทานให้พิจารณาที่จำเป็น โดยให้คณะกรรมการด้านเกษตรประชุมพิจารณาแผนพื้นที่เพาะปลูก ในพื้นที่ที่เสียหายโดยสิ้นเชิงในฤดูฝนและสามารถใช้น้ำตามแหล่งเก็บกักน้ำขนาดเล็กของท้องถิ่นและริมน้ำมูลได้ เพื่อให้ทราบความต้องการใช้น้ำเกษตรในหน้าแล้งที่จำเป็น ลดหรืองดการอนุญาตเลี้ยงปลาในกระชังในแม่น้ำมูลตอนล่างด้วยน้ำต้นทุนน้อย พิจารณาแนวทางเบื้องต้นของแผนงานเป็นระบบทั้งแผนงานเร่งด่วนที่จำเป็น ระยะกลาง และระยะยาวที่ยั่งยืน 

และสุดท้าย ตั้งคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำระดับจังหวัด เพื่อเชื่อมโยงงานบูรณาการงานระหว่างลุ่มน้ำชีและมูล ทั้งการติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการน้ำตามพระราชบัญญัติน้ำ พ.ศ.2561 แลพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อเชื่อมโยงขั้นตอนการบริหารจัดการน้ำท่วมภัยแล้งอย่างรวดเร็ว

เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวย้ำว่า ที่ผ่านมา จังหวัดอุบลราชธานี มักประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างรวดเร็วรุนแรงและแล้งอย่างกะทันหัน จึงต้องหาแนวทางปรับเปลี่ยนทิศทางบริหารจัดการเขื่อนต่างๆ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติน้ำ พ.ศ.2561 เพื่อรองรับหน้าแล้งและลดความเสี่ยงภัยขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคตั้งแต่ปลายตุลาคม 2562 จนถึงพฤษภาคม 2563 ในเบื้องต้น สทนช. คาดการณ์หน้านี้ปริมาณน้ำท่าจากลุ่มน้ำชีและน้ำมูลจะน้อยกว่าปกติมาก เนื่องจากเกิดฝนตกและน้ำท่วมเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำชีและมูลตอนล่าง ส่วนพื้นที่ต้นน้ำและกลางน้ำลุ่มชี-มูล ฝนตกน้อยและหมดเร็วกว่าปกติ ดังนั้น ปริมาณน้ำท่าที่จะไหลมาจากแม่น้ำชีและมูลที่เติมให้มูลตอนล่างและอุบลราชธานีจะน้อยลงมาก แม้ปัจจุบันได้ประสาน กฟผ.ปรับลดการระบายน้ำเขื่อนปากมูลเพื่อเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำใช้ในหน้าแล้ง 

ขณะนี้ได้ระบายน้ำแม่น้ำชีท้ายเขื่อนธาตุน้อยมาให้การใช้น้ำอุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศที่อุบลราชธานี 150,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และจากแม่น้ำมูลท้ายเขื่อนหัวนาวันละ 50,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน รวมน้ำไหลเข้า 200,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ทั้งนี้ ช่วง 2 สัปดาห์หลังจากปิดบานเขื่อนปากมูล ระดับน้ำมูลอยู่สูงกว่าระดับต่ำสุดสูบน้ำประปา 50 เซนติเมตร ซึ่งจังหวัดมีความกังวลกับปริมาณน้ำที่อาจไม่เพียงพอในช่วงหน้าแล้งนี้ เพราะจำเป็นต้องจัดสรรน้ำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะน้ำประปาเพื่อการอุปโภค-บริโภค น้ำเพื่อเตรียมการฟื้นฟูด้านการเกษตรหลังประสบอุทกภัย เช่น ปลูกพืชระยะสั้น ปลูกข้าวนาปรัง การประมง









Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.