เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



เปิดประโยชน์โครงการอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ แก้ปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก


3 ก.ค. 2567, 17:50



เปิดประโยชน์โครงการอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ แก้ปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก




ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ด้วยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ มีแนวคิดที่จะพัฒนาแหล่งน้ำโดยการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ มาช่วยเหลือพื้นที่ อำเภอห้วยกระเจา อำเภอเลาขวัญ อำเภอบ่อพลอย อำเภอหนองปรือ และอำเภอพนมทวนจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งซ้ำซากและขาดแคลนน้ำ จึงได้ดำเนิน การศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการแล้วเสร็จไปแล้วเมื่อเดือนเมษายน 2562

 

และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในขั้นตอนถัดไป กรมชลประทาน จึงได้ว่าจ้าง 5 บริษัท กลุ่มผู้ให้บริการออกแบบซึ่งเรียกว่า “กิจการร่วมค้า PFWFT JV” ประกอบด้วย บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท ฟรอนเทียร์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแทนท์ส จำกัด บริษัท วิศวชาญ 2002 จำกัด บริษัท ฟลัดเวย์ จำกัด และบริษัท ธูว์ บราเดอร์ พาทเนอร์ จำกัด ให้ดำเนินการสำรวจออกแบบ โครงการผันน้ำ จากเขื่อนศรีนครินทร์เพื่อบรรเทาปัญหาไปแล้วจังหวัดกาญจนบุรี

 

โดยโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เพื่อบรรเทาปัญหาภายภัยแล้งจังหวัดกาญจนบุรี มีวัตถุประสงค์ เพื่อ เพิ่มศักยภาพน้ำต้นทุนเพื่อบรรเทาภัยแล้งให้พื้นที่ในเขตอำเภอบ่อพลอย อำเภอห้วยกระเจา และอำเภอเลาขวัญ เพื่อจัดหาแหล่งน้ำเพื่อพื้นที่เกษตรกร 414,000 ไร่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรที่อยู่ในเขตพื้นที่โครงการและบริเวณใกล้เคียงตามนโยบายของรัฐบาล ลดปัญหาการย้ายถิ่นฐานของราษฎร โดยการส่งเสริมให้ราษฎรในท้องถิ่นมีอาชีพการเกษตรกรรมที่มั่นคง

 

องค์ประกอบของโครงการประกอบด้วย 3 กลุ่มหลักได้แก่ 1. ระบบอุโมงค์และอาคารประกอบ ประกอบด้วยอุโมงค์ผันน้ำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4.20 เมตร ความยาว 20.53 กิโลเมตร มีอัตราการผันน้ำ 12 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ผันน้ำมาลงที่อ่างเก็บน้ำลำอีซู พร้อมด้วยอาคารรับน้ำและอาคารจ่ายน้ำขนาดช่องระบาย 4.20 x 4.20 เมตร

 

2.ท่อส่งน้ำ MP2- บ่อพักน้ำหลุมรัง ประกอบด้วย ท่อเหล็กเหนียวขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.50 เมตร ยาว 14.27 กิโลเมตร ฝังอยู่ใต้ผิวดินในเขตถนนทางหลวง ส่งน้ำไปยังบ่อพักน้ำหลุมรัง ขนาดพื้นที่ 651 ไร่ ความจุบ่อพักน้ำ 3.70 ล้านลูกบาศก์เมตร

 

3.ระบบส่งน้ำไปยังพื้นที่รับประโยชน์บริเวณฝั่งซ้ายของคลองลำตะเพิน และพื้นที่ต้นน้ำสาขาของแม่น้ำท่าจีน ในเขตอำเภอบ่อพลอย อำเภอห้วยกระเจา และอำเภอเลาขวัญ โดยคลองส่งน้ำสายใหญ่ มีความกว้างท้องคลอง 3 เมตร ลึก 2.20 เมตร ยาว 94.20 กิโลเมตร มีอัตราการส่งน้ำ 10 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และมีท่อส่งน้ำสายซอยและท่อส่งน้ำสายแยกซอย รวม 42 สาย ความยาวรวม 315 กิโลเมตร

 

การสำรวจออกแบบโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี กรณีโครงการแล้วเสร็จ จะสามารถนำน้ำต้นทุนจากเขื่อนศรีนครินทร์  ได้ประมาณปีละ 378 ล้านลูกบาศก์เมตร มายังพื้นที่ที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ซึ่งจะทำให้พื้นที่การเกษตร จำนวน 414,000 ไร่ ในเขตอำเภอบ่อพลอย อำเภอห้วยกระเจา และอำเภอเลาขวัญ มีน้ำต้นทุนมาเสริมเพื่อใช้สำหรับการเกษตรตลอดทั้งปี รวมทั้งมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคอีกด้วย

 

เนื่องจากโครงการเป็นการส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วงของโลกและมีระยะทางค่อนข้างไกลน้ำจะสามารถถูกส่งไปถึงพื้นที่รับประโยชน์ได้หรือไม่นั้น โครงการผันน้ำเริ่มต้นน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ที่มีระดับเก็บกักที่ระดับ +180 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยที่ระดับท้องอุโมงค์เริ่มต้นอยู่ที่ระดับ + 160 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง น้ำไหลผ่านอุโมงค์ด้วยความดันเป็นระยะทาง 20.53 กิโลเมตร

 

ระดับท้องอุโมงค์ด้านปลายอยู่ที่ระดับ +157 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง จากนั้นน้ำไหลเติมเข้าอ่างลำอีซูซึ่งมีระดับเก็บกักที่ระดับ +157 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง จากอ่างเก็บน้ำลำอีซู น้ำไหลเข้าท่อ PM2  ซึ่งฝังใต้ดิน มาตามถนนทางหลวงเป็นระยะทาง 14.27 กิโลเมตร ก่อนไหลเข้าสู่บ่อพักน้ำหลุมรัง ซึ่งมีระดับเก็บกัก  +114 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยค่าระดับที่ต่างกัน น้ำในท่อ PM2  จึงสามารถไหลได้ภายใต้ความดัน หลังจากนั้นน้ำในบ่อพักหลุมรังจะกระจายเข้าพื้นที่รับประโยชน์ต่อไปโดยอาศัยการไหลด้วยแรงโน้มถ่วงของโลกตามธรรมชาติ ซึ่งหลังจากที่สูงกว่าไปยังที่ต่ำกว่า

 

ช่วงแรกของคลองส่งน้ำมีระดับพื้นดินเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ +102 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ช่วงกลางคลองส่งน้ำมีระดับพื้นดินเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ +97 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง และช่วงปลายคลองส่งน้ำมีระดับพื้นดินเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ +85 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง รวมความยาวคลองส่งน้ำ 94.20 กิโลเมตร

 

จะเห็นได้ว่าโดยรวมระดับพื้นที่ภูมิประเทศไล่ระดับจากพื้นที่สูงไปหาต่ำ โดยน้ำในคลองสายหลัก MC สามารถไหลถึงปลายคลองด้วยระบบเปิดได้ ส่วนระบบท่อแยกซอยเป็นการส่งน้ำจากคลองไปยังพื้นที่รับประโยชน์ ซึ่งระดับน้ำในคลองสูงกว่าพื้นที่รับประโยชน์ ตามสภาพภูมิประเทศ ซึ่งลาดเทจากพื้นที่สูงมายังพื้นที่ต่ำ ดังนั้นระบบกระจายน้ำจะสามารถส่งน้ำไปยังพื้นที่รับประโยชน์ได้อย่างครอบคลุมทั้งพื้นที่

 



 


 






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.