รพ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ พัฒนา "หญ้าดอกขาว" เป็นยาเม็ดอมอดบุหรี่ สร้างรายได้กว่า 4 แสนบาท/ปี
7 ก.ค. 2567, 15:16
วันนี้ ( 7 ก.ค.67 ) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพ เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งรัดพัฒนา โดยการยกระดับมาตรฐานการแพทย์แผนไทย ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ จากการลงพื้นที่ตรวจราชการ ที่ โรงพยาบาลจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย ดูแลประชากรทั้งอำเภอจัตุรัส เทพสถิต บำเหน็จณรงค์ ซับใหญ่ และเนินสง่า รวมกว่า 2.3 แสนคน พบว่ามีการพัฒนาศักยภาพด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โดยจัดตั้งโรงงานผลิตยาสมุนไพร โรงพยาบาลจัตุรัส ที่ได้รับรองมาตรฐานการผลิตยา WHO GMP เพื่อผลิตยาสมุนไพรสำหรับกระจายและใช้ในโรงพยาบาลต่างๆ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิ
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า หนึ่งในตำรับยาที่น่าสนใจคือ “ยาเม็ดอมอดบุหรี่หญ้าดอกขาว” ซึ่งได้รับการบรรจุเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านยาสมุนไพร ในปี 2566 สามารถสร้างได้กว่า 4 แสนบาทต่อปี โดยโรงพยาบาลจัตุรัส ได้ร่วมกับกลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก คิดค้นพัฒนาสูตรขึ้นสำหรับใช้บำบัดรักษาในคลินิกบุหรี่ด้วยยาสมุนไพร กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด โดยจากผลการศึกษาทางคลินิกของการบริบาลทางเภสัชกรรมเพื่อการเลิกบุหรี่ โรงพยาบาลจัตุรัส พบว่า สามารถช่วยเลิกบุหรี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จและมีสมรรถภาพปอดดีขึ้น โดยขณะนี้มีการกระจายไปใช้ในโรงพยาบาลของจังหวัดชัยภูมิทุกแห่ง รวมถึงจังหวัดอื่นๆ และมีแผนที่จะให้บริการอดบุหรี่เคลื่อนที่ในวัด โรงเรียน และชุมชน ต่อไป
ด้านแพทย์หญิงนิธิมาวดี คำวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจัตุรัส กล่าวว่า โรงงานผลิตยาสมุนไพร โรงพยาบาลจัตุรัส มีการผลิตยาจำนวน 39 รายการ ครอบคลุม 12 กลุ่มโรค ได้แก่ 1.กลุ่มอาการระบบไหลเวียนโลหิต 2.กลุ่มอาการระบบทางเดินอาหาร 3.กลุ่มอาการทางสูติ-นรีเวชวิทยา 4.กลุ่มอาการไข้ 5.กลุ่มอาการระบบทางเดินหายใจ 6.ยาบำรุงโลหิต 7.กลุ่มอาการทางกล้ามเนื้อและกระดูก 8.ยาบำรุงธาตุ ปรับธาตุ 9.กลุ่มอาการระบบทางเดินปัสสาวะ 10.ยาถอนพิษเบื่อเมา 11.ยาลดความอยากบุหรี่ และ 12.ยารักษากลุ่มโรคที่เกี่ยวกับกษัย โดยใช้วัตถุดิบสมุนไพรจากเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชน “โนนทองส่องตะวัน” ตำบลบ้านกอก ซึ่งเป็นแหล่งปลูกสมุนไพรเกษตรอินทรีย์ ไพล ขมิ้นชัน นำมาสกัดและพัฒนาเป็นยาสมุนไพรใช้ภายนอกเช่น น้ำมันไพล ยาไพล ลูกประคบ มีมูลค่าการผลิตประมาณ 1,000,000 บาทต่อปี และได้ขยายเครือข่ายเกษตรกรไปยังสมุนไพรรายการอื่นๆ อาทิ เถาวัลย์เปรียง ตะไคร้ ใบเตย ผิวมะกรูด ใบมะขาม ใบส้มป่อย เป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรด้วย