เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



นายกฯ แจงรัฐบาลใช้งบกลาง ดูแลปชช.ทุกมิติ น้ำมัน-ไฟฟ้า-เกษตร-บริหารจัดการน้ำ


11 ก.ค. 2567, 15:40



นายกฯ แจงรัฐบาลใช้งบกลาง ดูแลปชช.ทุกมิติ น้ำมัน-ไฟฟ้า-เกษตร-บริหารจัดการน้ำ




วันนี้ ( 11 ก.ค.67 )​ เวลา 11.25 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 2 ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจากรณีเกี่ยวกับการใช้งบกลาง ยืนยันว่ารัฐบาลได้มีการใช้งบกลาง ในการดูแลช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่มผ่านมาตรการต่าง ๆ ทั้งเรื่องค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า รวมไปถึงเรื่องของการเกษตร การบริหารจัดการน้ำในการดูแลเรื่องไม่ท่วมไม่แล้ง ตลอดจนเรื่องของถนน และสถานพยาบาลต่าง ๆ ทั้งนี้หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้งบกลาง ไม่ชัดเจน ครั้งหน้าก็สามารถที่จะมาแถลงอีกครั้งได้ โดยจะนำรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้งบกลางของรัฐบาลว่ามีการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้าง เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนมานำเสนอให้ทราบ

ส่วนเรื่องของเศรษฐกิจโดยรวมที่มีการระบุว่า มีการปิดโรงงาน ไม่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ นั้น นายกฯ ได้ชี้แจงว่า เรื่องของวิกฤตหรือไม่วิกฤตเรามีความเห็นต่างกันมาก ต้องกระตุ้นหรือต้องเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจหรือไม่ นั้น ซึ่งทุกคนทราบอยู่แล้ว 10 ปีที่ผ่านมา GDP ไทย โตต่ำมาก ไม่มีการดำเนินการเรื่อง Infrastructure ขนาดใหญ่เลย ส่งผลให้การบริโภคโตเฉลี่ยแค่ประมาณ 3% ต่อปี การเจริญเติบโตส่วนใหญ่เป็น K Shape Recovery หรือเป็นช่วงพีระมิด K Shape คือ ช่วงบนโตที่รวยแล้วก็รวยอีก คนจนก็ต่ำต้อยต่อไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะหลังจากช่วงวิกฤตโรคโควิด-19 มา ทำให้เห็น K Shape Discovery ก็เกิดขึ้นแล้วในสังคมไทย ขณะที่การลงทุนของภาครัฐและเอกชนก็อยู่แค่ประมาณ 1% เท่านั้น ส่งออกก็ติดลบ การนำเข้านำเข้ามากขึ้นส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบ พลังงาน ทั้งนี้ปัญหาตรงนี้ใหญ่ ๆ มี 5 ข้อ

ข้อแรก คือ การปิดตัวของโรงงานชัดเจน ขณะที่อุตสาหกรรมต้องมีการปรับตัวกับความต้องการของโลกสมัยใหม่ ซึ่งเราก็มีการปรับตัวช้ามากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตรงนี้จึงเป็นที่มา ว่าทำไมนายกรัฐมนตรีถึงเดินทางไปต่างประเทศ ตรงก็นี้เพื่อเป็นการไปเจรจากับ ทางบริษัท Tech ใหญ่ ทั้ง Google Microsoft  AwS (Amazon web Service) เพื่อให้เข้ามาสร้าง Data Center และ Infrastructure พื้นฐาน ที่จะรองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างผลกำไรให้กับประชาชนทุกคนทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น หรือแม้กระทั่งการเดินทางไปประเทศจีน เพื่อไปพูดคุยนำรถ EV เข้ามา ให้มีการเปลี่ยนผ่านจาก ICE ไปเป็น EV ซึ่งขณะนี้มีบริษัทเข้ามาลงทุนในประเทศไทยจำนวนมาก แม้ EV จะมีการสะดุด ยอดขายตกไปบ้างแต่เราก็ยังเดินหน้าต่อและยังมีการปรับโครงการ Incentive ทั้งหลาย ไม่ใช่แค่ EV อย่างเดียว เรื่องของ Hybrid เราก็พยายามดูแลคู่ค้าจากญี่ปุ่นด้วยเพื่อให้ supply chain ทั้งหมดแข็งแกร่งและอยู่ต่อไปได้

ข้อสอง คือ การนำเข้าพลังงานจำนวนมากเป็นรายจ่ายที่สำคัญ ซึ่งเรามีหนึ่งวิธีในทางแก้ไข คือเรื่อง แหล่งก๊าซปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อน OCA ไทย-กัมพูชา รัฐบาลได้ประกาศแล้วจะมีการแก้ไข โดยมีการประเมินตัวเลขก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในอ่าวไทยซึ่งมีพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศกัมพูชา มีมูลค่ากว่า 20 ล้านล้านบาท โดยเราจะต้องมีการพูดคุยซึ่งกันและกัน จะมีการนำมาใช้อย่างไรเพื่อนำมาแก้ไขราคาโครงสร้างของพลังงานได้ ไม่ต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ

ข้อสาม คือ ช่วงเวลาที่ผ่านมาเรื่องของ Trade War หรือ Geopolitics เป็นเรื่องที่สำคัญ แม้ว่าประเทศไทยจะมีจุดยืนเป็นกลาง ไม่ทะเลาะกับใคร พร้อมที่จะเป็นคู่ค้ากับทุกคน แต่กลับทำให้การส่งออกลดน้อยลง โดยเราต้องมีจุดยืนทางด้านการต่างประเทศที่ชัดเจน จำเป็นต้องมีการเดินทางไปพูดคุยกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทำให้ต้องมีการเดินทางไปพูดคุยตลอดเวลาเพื่อทำให้ต่างประเทศมีความมั่นใจในการที่จะมาลงทุนและซื้อสินค้าของไทยด้วย

ข้อสี่ คือ การลงทุนมีแนวโน้มต่ำ อย่างที่เคยแจ้งให้สภาทราบว่าครั้งสุดท้ายที่เรามีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ คือ โครงการสนามบินสุวรรณภูมิ ในสมัยนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งผ่านมาเกือบ 20 ปี จากนั้นเราไม่มีโครงการขนาดใหญ่เลย

ข้อห้า คือ การบริโภคภายในประเทศ ถ้าเราตัดการท่องเที่ยวออกไปก็จะนับว่าประเทศไทยไม่มีการเจริญเติบโตเท่าที่ควร โดยการท่องเที่ยวนั้นรัฐบาลใช้เป็นนโยบายหลักตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง ไม่ได้ใช้งบประมาณเป็นหลัก ทั้งนี้ การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งใน Growth engine ที่สามารถพยุงเศรษฐกิจได้ อาทิ ฟรีวีซ่าไทย-จีน การเปิดนิทรรศการต่าง ๆ เชิญชวนให้ชาวต่างประเทศมาลงทุน ท่องเที่ยวในประเทศไทย อีกทั้งรัฐบาลยังดูแลเรื่องความปลอดภัยควบคู่ไปกับฝ่ายความมั่นคง ทำให้ประเทศไทยเป็นที่ต้องการที่จะมาเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก นอกจากนั้นการท่องเที่ยวยังแบกเศรษฐกิจในปัจจุบันด้วย รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะดำเนินการต่อ ซึ่งเมื่อวานที่ผ่านมาประเทศอินเดียก็ได้ยกเว้นวีซ่าฟรีให้กับคนที่จะเข้ามาท่องเที่ยวเป็นการชั่วคราวและรัฐบาลจะมีการกระตุ้นต่อไปอย่างต่อเนื่อง ส่วนภาคอุตสาหกรรมนั้นก็มีแนวโน้มต่ำเช่นเดียวกัน Capacity Utilization ก็ต่ำมาโดยตลอด ลดลงตลอดเวลา แสดงให้เห็นว่าความต้องการสินค้ามีไม่เพียงพอ คนไม่มีกินไม่มีใช้ เพราะฉะนั้นนี้เป็นเหตุผลทำไมถึงต้องมีดิจิทัลวอลเล็ต หากมีเงินใหม่เข้ามาในระบบ 450,000 ล้านหรือ 500,000 ล้าน ทุกคนลองจิตนาการว่า โรงงานต่าง ๆ จะมีการผลิตสินค้ามารองรับการซื้อของประชาชนที่จะมีเงินเข้าไปในระบบหรือไม่ ซึ่งนี้เป็นอีกหนึ่งวิธีในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดการผลิต การจ้างงาน ประชาชนต่างมีความหวัง









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.