เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



เตือนภัยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อ้างธนาคารดัง หลอกช่วยตามเงินคืน เสียหายเฉียด 2 ล้าน


15 ก.ค. 2567, 15:59



เตือนภัยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อ้างธนาคารดัง หลอกช่วยตามเงินคืน เสียหายเฉียด 2 ล้าน




วันนี้ ( 15 ก.ค.67 ) นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 11 - 14 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย
 
คดีที่ 1 หลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบโทรศัพท์ เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์ มูลค่าความเสียหาย 305,688บาท ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลาง แจ้งว่าผู้เสียหายจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าครองชีพหลังเกษียณ ตามนโยบายภาครัฐ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงเพิ่มเพื่อนผ่านทาง Line จากนั้นมิจฉาชีพส่งลิงก์ให้ดาวน์โหลดติดตั้ง แอปพลิเคชันลงทะเบียนกรอกข้อมูลยืนยันตัวตนรับสิทธิ โดยให้ทำตามคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ ต่อมาภายหลังผู้เสียหายเช็คยอดเงินในบัญชีของตนพบว่า ได้ถูกโอนออกไปจากบัญชี จึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
           
คดีที่ 2 ข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความหวาดกลัว หลอกให้โอนเงิน Call Center มูลค่าความเสียหาย 1,464,990บาท โดยผู้เสียหายเคยแจ้งคดีความถูกมิจฉาชีพหลอกให้ลงทุนออนไลน์ไว้ในครั้งแรก ต่อมาภายหลัง ได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพทางโทรศัพท์อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารกสิกรไทย จะนำเงินในบัญชีที่เสียหายไปคืนกลับมา ผู้เสียหายหลงเชื่อเพราะให้ข้อมูลถูก จึงเพิ่มเพื่อนทาง Line พูดคุยมิจฉาชีพแจ้งว่าต้องมีค่าดำเนินการเอกสาร และค่าบัญชีความเคลื่อนไหวของธนาคาร โดยให้โอนเงินไปหลายครั้ง ผู้เสียหายเดินทางไปยังธนาคารเพื่อสอบถามกับทางเจ้าหน้าที่ จึงทราบว่าตนเองนั้นถูกมิจฉาชีพหลอกเป็นครั้งที่สอง
 
คดีที่ 3 หลอกลวงให้กู้เงิน มูลค่าความเสียหาย 62,028 บาท ผู้เสียหายพบโฆษณาสินเชื่อเงินสดผ่านข่องทาง Facebook ปลอม ชื่อเพจ KKP Cash Now จึงเกิดความสนใจ ทักไปสอบถามพูดคุย จากนั้นให้เพิ่มเพื่อนทาง Line แล้วส่งลิงก์ให้กรอกข้อมูลลงทะเบียนสินเชื่อ มิจฉาชีพแจ้งว่ามีค่าสมัครสมาชิก และค่าธรรมเนียมการขอสินเชื่อ ต่อมาภายหลังแจ้งว่าผู้เสียหายกรอกข้อมูลผิดพลาด จึงทำให้ระบบล็อกทำรายการไม่ได้ ให้โอนเงินไปทำการปลดล็อก และแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง ต่อมาภายหลังผู้เสียหายทราบว่า ตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
 
คดีที่ 4 หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ที่ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการ มูลค่าความเสียหาย 100,900 บาท ทั้งนี้ผู้เสียหายพบโฆษณาขายรถจักรยานยนต์มือสอง ผ่านช่องทาง Facebook ทำให้เกิดความสนใจ จึงทักไปสอบถามพูดคุยและเพิ่มเพื่อนทาง Line ตกลงซื้อขายโอนเงินเรียบร้อย ต่อมามิจฉาชีพแจ้งว่า มีค่าดำเนินการเอกสารต่าง ๆ เพิ่มเติม ผู้เสียหายจึงโอนไปให้อีกหลายครั้ง สุดท้ายไม่สามารถติดต่อได้อีก จึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
 
และคดีที่ 5 หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ที่ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการ มูลค่าความเสียหาย 65,900 บาท ผู้เสียหายได้สั่งเช่าพระเครื่อง ผ่านช่องทาง Facebook ได้ตกลงซื้อขายโอนเงินเรียบร้อย เมื่อถึงกำหนดยังไม่ได้รับพระเครื่อง จึงทักไปสอบถามกับทางเพจ มิจฉาชีพแจ้งว่าจัดส่งให้เรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นไม่สามารถติดต่อเพจได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพ หลอก
              
สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 1,999,506 บาท
 
ทั้งนี้ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่  12 กรกฎาคม 2567 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงานดังนี้
 
1.สายโทรเข้า 1441 จำนวน 837,127 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,283 สาย
 
2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 229,226 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,076 บัญชี
 
3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 69,043 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 30.12 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 54,441 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 23.75 (3) หลอกลวงลงทุน 38,887 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 16.97 (4) หลอกลวงให้กู้เงิน 17,835 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.78 (5) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 16,508 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.20 (และคดีอื่นๆ 32,512 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.18)
 
“จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพได้ใช้วิธีการรูปแบบต่างๆ ทั้งการหลอกติดตั้งแอปฯ ดูดเงิน อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร อ้างช่วยติดตามเงินคืน โดยมีค่าใช้จ่าย  หลอกลวงให้กู้เงิน และหลอกลวงขายสินค้า ซึ่งส่วนใหญ่จะรู้จักข้อมูลส่วนบุคคลเบื้องต้น หรือใช้วิธีการหลอกลวงซ้ำซ้อน โดยมิจฉาชีพยังคงใช้การติดต่อ และการก่ออาชญากรรมผ่านช่องทาง Facebook หรือ Line เป็นหลัก ดังนั้นจึงขอเตือนประชาชน ควรตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดให้แน่ชัดก่อนตัดสินใจโอนเงินซื้อสินค้า หรือทำธุรกรรมใดๆ โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลต่างๆผ่านโทรสายด่วน GCC 1111 หรือสอบถามข้อมูลกับทางธนาคารโดยตรง ก่อนตัดสินใจทำธุรกรรมใดๆ
 
อย่างไรก็ตาม ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง” นางสาววงศ์อะเคื้อ กล่าว
 
ทั้งนี้ หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.