เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



นายกฯ สั่งเร่งแก้ปัญหาปลาหมอคางดำแพร่ระบาด บรรเทาความเดือดร้อนปชช.


17 ก.ค. 2567, 15:43



นายกฯ สั่งเร่งแก้ปัญหาปลาหมอคางดำแพร่ระบาด บรรเทาความเดือดร้อนปชช.




วันนี้ ( 17 ก.ค.67 ) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ (Blackchin tilapia) ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นั้น 
 
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหา บรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในระยะเร่งด่วน และตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแพร่ระบาด โดยได้ดำเนินการรับซื้อปลาดังกล่าวในราคา 15 บาท ต่อกิโลกรัม และมอบหมายให้กรมประมงประสานกับจังหวัดเพื่อตั้งจุดรับซื้อ รวมถึงดำเนินการตาม (ร่าง) แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567 - 2568 กรอบ 5 มาตรการ 12 กิจกรรม ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 ถึงเดือนกันยายน 2568 ซึ่งได้รับการเห็นชอบจาก คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ครั้งที่ 2/2567 รวมทั้ง สั่งการให้กรมประมงแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ เร่งดำเนินการตรวจสอบตามกระบวนการเพื่อหาต้นตอ และหาข้อเท็จจริง
 
ในการนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ระบุถึง 5 มาตรการ 12 กิจกรรม จาก (ร่าง) แผนปฏิบัติการ ดังกล่าว ประกอบด้วย 
มาตรการที่ 1 การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด 4 กิจกรรม เน้นการกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ด้วยเครื่องมือและวิธีการต่าง ๆ 

มาตรการที่ 2 การกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง 2 กิจกรรม เน้นการประเมินสถานภาพปลาหมอคางดำก่อนปล่อยลูกพันธุ์ปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว 

มาตรการที่ 3 การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดได้ไปใช้ประโยชน์ เน้นการจัดหาแหล่งกระจายและรับซื้อ จัดหาแนวทางการใช้ประโยชน์ 

มาตรการที่ 4 การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชน เน้นการสร้างความพร้อมในการรับมือเมื่อพบการแพร่ระบาดให้กับองค์กรประมงชุมชนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สำรวจและเฝ้าระวังในแหล่งน้ำที่ยังไม่พบการแพร่ระบาด และ

มาตรการที่ 5 การสร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้กับทุกภาคส่วน พร้อมจัดทำคู่มือแนวทางการรับมือ
 
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า พร้อมกันนี้ มีการดำเนินโครงการวิจัยการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ เพื่อทำให้ประชากรปลาหมอคางดำเป็นหมัน จากนั้นจะปล่อยปลาหมอคางดำพิเศษเหล่านี้ลงสู่แหล่งน้ำเพื่อให้ไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำปกติที่มีชุดโครโมโซม 2 ชุด (2n) ซึ่งจะทำให้เกิดลูกปลาหมอคางดำที่มีชุดโครโมโซม 3 ชุด (3n) ซึ่งลูกปลากลุ่มนี้จะเป็นหมัน ไม่สามารถขยายพันธุ์ต่อได้ โดยมีแผนปล่อยพันธุ์ปลาหมอคางดำ 4n ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทยอยปล่อยอย่างน้อย 250,000 ตัว ภายในระยะเวลา 15 เดือน (กรกฎาคม 2567 - กันยายน 2568) 
 
ทั้งนี้ จากการดำเนินการการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำจากแหล่งน้ำธรรมชาติทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567) ได้มีการกำจัดปลาหมอคางดำไปแล้ว 623,370 กิโลกรัม จำแนกเป็นปลาหมอคางดำที่จับจากแหล่งน้ำธรรมชาติ 325,668 กิโลกรัม และปลาหมอคางดำที่จับจากบ่อเพาะเลี้ยง 297,702 กิโลกรัม โดยรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะทำการขยายผลเพื่อดำเนินมาตรการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งกำจัดปลาหมอคางดำให้หมดไปจากระบบนิเวศทางน้ำของไทย 
 
“นายกรัฐมนตรีมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบกับประชาชน ผ่านการพิจารณาดำเนินการอย่างเหมาะสม รอบด้าน ไม่ให้กระทบส่วนอื่น ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สกัดต้นตอการแพร่กระจาย ควบคุมประชากรปลาดังกล่าวไม่ให้มีมากเกินไป รวมถึงส่งเสริมการนำปลาหมอคางดำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ให้เกิดประโยชน์ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ พร้อมแนะนำประชาชน ช่วยการเฝ้าระวังการแพร่ขยายพันธุ์ของปลาชนิดนี้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ สร้างความรู้ความเข้าใจใน “เอเลี่ยนสปีชีส์” และหาแนวทางการรับมือต่อไป” นายชัย กล่าว









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.