"จุลพันธ์" มั่นใจโครงการเงินดิจิทัลหมื่นบาทกระตุ้นเศรษฐกิจ ลั่นปลายปีนี้ถึงมือประชาชน
17 ก.ค. 2567, 16:03
วันนี้ ( 17 ก.ค.67 ) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (รมช.คลัง) กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 พ.ศ. .... เพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยระบุในตอนหนึ่งว่า กลไกการเปลี่ยนแหล่งที่มาของจัดสรรงบทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เป็นข้อเสนอของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังดูรายละเอียดว่าสามารถบริหารจัดการได้ จึงเสนอคณะกรรมการนโยบายเพื่อพิจารณาและมีมติเห็นชอบไปแล้ว เป็นการเปลี่ยนแหล่งเงินให้มีความเหมาะสมขึ้น พร้อมยืนยันว่า ปลายปีนี้เงินถึงมือประชาชนแน่นอน แม้จะมีการปรับเปลี่ยนในรายละเอียดบ้าง แต่ได้เดินหน้าจนยืนยันได้ว่าระบบดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสามารถเสร็จได้ทัน และมีเงินเพียงพอดำเนินการได้ทันในกรอบเวลา ขณะที่กระบวนการทำโครงการดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาส่วนงานราชการจำนวนมาก และพิจารณาด้วยความรอบคอบตามกรอบกฎหมาย เพื่อเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจไม่ใช่นโยบายสงเคราะห์ประชาชน ทั้งนี้ตนได้เคยยกสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศให้เห็นแล้ว่า ยังไม่ได้อยู่ในระดับที่ดี ตั้งแต่วันที่พรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นรัฐบาล ตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวชี้ชัด ว่าขณะนี้ประเทศไทยเติบโตต่ำสุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่ดีนัก มีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประชาชน ไม่ใช่กลไกในการมาสงเคราะห์ประชาชนหรือช่วยกลุ่มเปราะบาง แต่ใช้ประชาชนเป็นกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจ คือ เติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ให้ถึงมือประชาชน และต้องให้ความเชื่อมั่นกับประชาชนว่าเมื่อได้เงินไปแล้วจะไปใช้จ่ายทำให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิต ทั้งหมดเป็นกลไกที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากที่สุด พร้อมเชื่อมั่นว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้ เศรษฐกิจเติบโตก็สามารถทำให้ขนาด GDP เติบโตขึ้นได้ มีการจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น แล้วหมุนวนกลับมาแก้ปัญหาประชาชน ขณะที่ข้อห่วงใยในการทุจริตนั้น รัฐบาลจะพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ยืนยันว่าไม่มี เพราะเป็นการจ่ายเงินตรงกับประชาชน ใช้บัตรประชาชนมีผู้รับ 1 คนต่อ 10,000 บาท
นายจุลพันธ์ ยังกล่าวถึงกรณีการกำหนดคุณสมบัติผู้ร่วมโครงการต้องอายุ 16 ปีขึ้นไป ว่า เป็นการพิจารณาบนพื้นฐานถึงศักยภาพในการใช้จ่ายเงินได้ ไม่ได้มีการผูกโยงเกี่ยวกับการมีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งหน้า เพราะหากเด็กเกินไปอาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องของการจับจ่ายใช้สอยกับเงินจำนวนมาก ส่วนที่ไม่ให้เป็นเงินสด ยืนยันว่า ไม่ใช่รูปแบบคริปโต และจะไม่มีการรั่วไหลใดๆ เกิดขึ้นได้ แต่สิ่งที่ทำกำลังวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศให้กับคนไทย และที่สำคัญต้องการสร้างระบบการแลกเปลี่ยนกลางของรัฐ ทางลัดเป็นทางเข้าเชื่อมไปยังบริการต่างๆ ที่ภาครัฐจะจัดสรรให้กับประชาชน เพื่อได้รับเงินโดยตรง ดังเช่นในอดีตที่เคยดำเนินการเรื่องพร้อมเพย์ ได้มีการพัฒนาศักยภาพต่อเนื่อง และกลไกที่กำลังทำจะเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่จะให้ประชาชนได้ใช้ต่อไป เป็นหนึ่งในกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจให้หมุนเวียนเติบโต พร้อมย้ำว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตนี้จะเกิดประโยชน์มหาศาลแก่ประชาชน เป็นการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ทำนโยบายนี้เพียงอย่างเดียว แต่รัฐบาลยังมีนโยบายในมิติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสินค้าภาคการเกษตร การดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ การลงทุนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจยกระดับทักษะแรงงาน รวมทั้งยังมีการพัฒนาปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศให้มีความเข้มแข็งต่อไปด้วย