ไทยทบทวนแนวปฏิบัติพิจารณาเห็นชอบเอกสารในกรอบอาเซียน ลดขั้นตอน-เพิ่มประสิทธิภาพ
17 ก.ค. 2567, 16:08
วันนี้ ( 17 ก.ค.67 ) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เอกสารในกรอบอาเซียนที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีปัจจุบันมีทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่ ความตกลงที่ไทยลงนามในฐานะคู่ภาคี เอกสารระหว่างอาเซียนกับภาคีภายนอกที่เลขาธิการอาเซียนเป็นผู้ลงนามในนามอาเซียนในฐานะองค์การระหว่างประเทศระดับรัฐบาล และเอกสารที่ไทยต้องร่วมรับรอง (adopt)
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า เช่นนี้ กต. จึงเห็นควรทบทวนแนวปฏิบัติการพิจารณาให้ความเห็นชอบเอกสารในกรอบอาเซียน 2 ประเภท (1) เอกสารระหว่างอาเซียนกับภาคีภายนอกที่เลขาธิการอาเซียนเป็นผู้ลงนามในนามอาเซียนในฐานะองค์การระหว่างประเทศระดับรัฐบาล (2) แผนงาน (Work Plan) และแผนดำเนินการ (Plan of Action) ระหว่างอาเซียนกับภาคีภายนอกที่ไทยต้องร่วมรับรอง โดยหากเอกสารทั้ง 2 ประเภทดังกล่าวเข้าเงื่อนไข 5 ข้อ ตามที่ กต. กำหนด เช่น (1) เอกสารดังกล่าวต้องไม่เข้าลักษณะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ (2) ไทยไม่ได้ร่วมลงนามในฐานะคู่ภาคี ฯลฯ ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องหารือกับ กต. (กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย) เพื่อให้ความเห็นชอบโดยไม่ต้องนำเอกสารดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 4 (7) ของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548
ทั้งนี้ การทบทวนและกำหนดแนวปฏิบัติในการดำเนินการภายในของไทยเพื่อให้ความเห็นชอบเอกสารในกรอบอาเซียนจะเป็นการลดขั้นตอนการดำเนินการและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการภายในของไทยให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้โครงการความร่วมมือต่างๆ ในกรอบอาเซียนสามารถเริ่มดำเนินการได้ตามกำหนดเวลา และส่งเสริมบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในอาเซียนต่อไปด้วย