เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ชาวสวนยางประจวบ ข้องใจรัฐบาลใช้งบซื้อปลาหมอคางดำเป็นธรรมกับชาวสวนยางหรือไม่


19 ก.ค. 2567, 12:33



ชาวสวนยางประจวบ ข้องใจรัฐบาลใช้งบซื้อปลาหมอคางดำเป็นธรรมกับชาวสวนยางหรือไม่




วันที่ 19 กรกฎาคม 67 นายรุ่งโรจน์ รัตนแก้ว ชาว ต.ทองมงคล อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกรณีที่รัฐมนตรีเกษตรมีนโยบายนำเงินจากกองทุนสวนยาง การยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท.ไปอุดหนุนให้กรมประมงใช้เพื่อรับซื้อปลาหมอคางดำจำนวนมากที่ขยายพันธุ์ในหลายจังหวัด โดยกำหนดราคารับซื้อกิโลกรัมละ 15 บาท ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และการซื้อเพื่อไปทำปุ๋ยหรือผลิตอาหารสัตว์ไม่น่าจะมีความคุ้มค่า ส่วนตัวเห็นว่าการใช้นโยบายนี้น่าจะเป็นการใช้งบประมาณผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ มีความเป็นธรรมกับพี่น้องชาวสวนยางทั่วประเทศที่มีและไม่มีเอกสารสิทธิ์ในการใช้พื้นที่ปลูกยางหรือไม่

นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า เนื่องจากเงินกองทุนทั้งหมดที่จะนำไปใช้จ่ายเพื่อซื้อปลาหมอคางดำเป็นเงินเซสที่ กยท.หักจากการขายยางไปต่างประเทศที่มีการรับซื้อจากเกษตรกรทุกรายทั้งที่มีและไม่มีเอกสารสิทธิ์ นอกจากนั้นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนว่าไม่เป็นธรรม มาจากการใช้งบในกองทุนที่กำหนดเงื่อนไขเพื่อชดเชยผู้ที่โค่นยางทิ้งเพื่อปลูกพืชอื่นทดแทน ซึ่งผู้ที่ปลูกพืชอื่นในที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์จะไม่ได้รับเงินชดเชยก้อนนี้จาก กยท. ทั้งที่เงินกองทุนที่เก็บไปทั้งหมดมาจากต้นยางทุกต้นที่มีผลผลิตเพื่อการส่งออกในประเทศนี้ ดังนั้นหากเงินกองทุนยังช่วยเหลือชาวสวนยางทั้งหมดไม่ได้ ก็ไม่ควรนำงบก้อนนี้ใช้ในวัตถุประสงค์ด้านอื่นๆ

มีรายงานว่า สำหรับเงินเซสที่จะนำไปซื้อปลาหมอคางดำ คือ เงินที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทําสวนยางรับชําระจากผู้ส่งยางออกนอกราชอาณาจักร ตามมาตรา 5 ของพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทําสวนยาง พ.ศ.2503 เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายในการปลูกแทนสวนยางที่ให้ผลผลิตน้อยมาปลูกยางพันธุ์ดีที่ให้ผลผลิตมากขึ้น

 



ด้านนายนพพร สิทธิเกษมกิจ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการประมง สำนักงานประมง จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานประมงจังหวัดฯ ได้เร่งหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการตั้งจุดรับซื้อปลาหมอคางดำในราคา กก.ละ 15 บาท พร้อมปรับแผนเพิ่มความถี่ในการระดมเครื่องมือประมงจับปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำให้ได้มากที่สุดอย่างน้อยเดือนละ 4 ครั้งในพื้นที่พบการระบาดมาก คือ อ.ปราณบุรี สามร้อยยอด และกุยบุรี ก่อนที่จะมีการปล่อยพันธุ์ปลากะพงขาวซึ่งเป็นปลาผู้ล่า 20,000 ตัว ในเดือนสิงหาคมนี้

ทั้งนี้ ปัญหาการแพร่ขยายพันธ์ที่รวดเร็วของปลาหมอคางดำ ส่งผลกระทบต่อปริมาณสัตว์น้ำพื้นถิ่นอย่างชัดเจน เช่นที่ทุ่งสามร้อยยอด ปัจจุบันปลาสลิด ปลาหมอเทศลดน้อยลงมาก เช่นเดียวกับพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลปริมาณกุ้งแชบ๊วยก็ลดลงเช่นกัน จึงได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการนำปลาหมอคางดำไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปเป็นอาหาร ส่งขายให้กับโรงงานปลาป่นเพื่อผลิตเป็นอาหารสัตว์ หรือการทำเป็นปุ๋ยชีวภาพเพื่อลดต้นทุนด้านเกษตรกรรม////

 



คำที่เกี่ยวข้อง : #ชาวสวนยางประจวบ   #ปลาหมอคางดำ  




Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.