ปลาหมอคางดำทำลายระบบนิเวศน์ทุ่งสามร้อยยอดนานกว่า 10 ปี
22 ก.ค. 2567, 16:28
วันที่ 22 ก.ค.67 ผู้สื่อข่าวจังหวัดประจวบฯ รายงานว่า ทุ่งสามร้อยยอด อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีเนื้อที่กว่า 4 หมื่นไร่ เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด เช่น ปลานิล ปลาหมอเทศ ปลาพื้นถิ่นหลากหลายสายพันธุ์ ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จับสัตว์เป็นอาชีพหลัก หลังจากเมื่อปี 2560 ที่มีการตรวจพบว่าในทุ่งสามร้อยยอดมีปลาหมอคางดำสายพันธุ์เอเลี่ยนเข้ามาอยู่ ก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่เพราะพื้นที่ทุ่งสามร้อยยอด ปลาชนิดนี้ได้ทำลายล้างพวกปลาวัยอ่อน รวมถึงไข่และสัตว์น้ำวัยอ่อนทั้งหมด ซึ่งในขณะนี้ที่ไหนมีแหล่งน้ำก็จะพบว่ามีปลาหมอคางดำอยู่เต็มไปหมด ขณะร่องน้ำข้างถนนรอบหมู่บ้านเมื่อใช้แหเหวี่ยงลงไปจับก็จะพบว่ามีแต่ปลาหมอคางดำ ส่วนปลาพื้นถิ่นหายไปเกือบหมด
จากเมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2560 เจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเพชรบุรี ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้าน เคยเข้ามาสำรวจและเก็บตัวอย่างปลาหมอคางดำในทุ่งสามร้อยยอดเพื่อส่งให้ห้องแล็ปของกรมประมงตรวจสอบ ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้คนในพื้นที่ก็ยังไม่เคยทราบผลตรวจสอบ จนล่าสุดมาเกิดข่าวเป็นกระแสเกิดขึ้นอีกครั้ง
นายสมหมาย ชมแค ชาวบ้าน กล่าวว่า มีอาชีพทำประมงในทุ่งสามร้อยยอดมา 30-40 ปี ในทุ่งสามร้อยยอดมีปลาน้ำจืดปลาสลิด ปลาช่อน จำนวนมาก แต่ปัจจุบันลดน้อยลงเกิดภัยแล้งน้ำน้อยก็หมดไปเอง ตั้งแต่มีปลาหมอคางดำเข้ามาปลาพื้นถิ่นเมื่อก่อนจับปลาได้ 40-50 กิโลกรัม แต่วันนี้ในทุ่งเป็นสองน้ำเป็นน้ำเค็มน้ำกร่อยเข้ามาปลาน้ำจืดก็หมด ประเด็นที่ปลาหมอคางดำมีผลกระทบกับเรามาก มันก็เยอะอยู่กุ้งธรรมชาติมันก็กินหมด เวลาเหวี่ยงแหตอนนี้ก็ได้แต่หมอคางดำอย่างเดียว ปลากระบอกนิดหน่อย เวลาจับปลาหมอคางดำได้ก็มาทำเป็นเหยื่อให้กับปูและกุ้งกินเป็นอาหาร
นางสายจิต แก้วอ่วม แม่ค้ารับซื้อปลา กล่าวว่า มีอาชีพหาปลาและรับซื้อสัตว์น้ำในทุ่งสามร้อยยอดมานานแล้ว เมื่อก่อนที่จะมีปลาหมอคางดำเข้ามาในทุ่งมีปลาชุกชุม ปลาสลิด ปลาหมอ ปลาช่อน ปัจจุบันมีปลาหมอคางดำเข้ามาแทนที่ ปลาพื้นถิ่นหายหมด กินไข่ปลาหมด เกือบ10 ปีได้ทุกวันนี้ก็ซื้อปลาหมอคางดำ ปลาช่อน ราคารับซื้อปลาหมอคางดำขนาดใหญ่ ราคา 20 บาท ขนาดตัวเล็ก 5 บาท เอาไปทำเป็นอาหารสัตว์ให้กุ้งกิน ตอนนี้ได้รับผลกระทบมากคนในหมู่บ้านก็ลำบาก อยากให้กำจัดให้หมดแต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร
สำหรับปัญหาการแพร่ขยายพันธุ์ที่รวดเร็วของปลาหมอคางดำส่งผลกระทบต่อปริมาณสัตว์น้ำพื้นถิ่นอย่างชัดเจนเช่นที่ทุ่งสามร้อยยอดปัจจุบันปลาสลิด ปลาหมอเทศ ลดน้อยลงมาก เช่นเดียวกับพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเล ปริมาณกุ้งแชบ๊วยก็ลดลงด้วยเช่นกัน
////////////////////////////////////////////////////////////