ภาพแรก หลังปล่อย เสือโคร่ง "บะลาโกล" ในป่าทับลาน Go Go Balagol: ก้าวต่อไปบะลาโกล
23 ก.ค. 2567, 13:08
บะลาโกล เป็นเสือโคร่งที่เกิดในป่าธรรมชาติ แต่ช่วงเวลาแห่งการเติบโตมีความพลิกผันของโชคชะตาเกิดขึ้น ทำให้กลายเป็นเสือเร่ร่อนก่อนเวลาอันควร เมื่อเดินทางเข้าใกล้ชุมชนจนจะกลายเป็นปัญหาของชาวบ้านที่อาศัยใกล้เคียงพื้นที่ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 จึงเข้าระงับปัญหาด้วยการจับเคลื่อนย้ายให้ออกห่างจากชุมชน
ด้วยความที่บะลาโกลเป็นเสือป่า การกลับสู่ป่าจึงเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุด กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงได้เห็นชอบให้ “ป่าทับลาน” ซึ่งคือส่วนหนึ่งของกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นจุดหมายปลายทางของการเริ่มต้นชีวิตใหม่ เนื่องจากมีความสมบูรณ์ของสัตว์ที่เป็นเหยื่อที่เชื่อได้ว่า เพียงพอ สำหรับการอาศัยอยู่ของบะลาโกล และที่สำคัญกว่านั้นคือ การมีอยู่ของกลุ่มประชากรเสือโคร่งที่แม้ว่าเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่ถ้า บะลาโกล อยู่รอดได้มันจะสามารถช่วยเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมซึ่งถือเป็นการฟื้นฟูประชากรกลุ่มนี้อีกทางหนึ่ง
ในกระบวนการการฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่าหายาก ขั้นตอนหลักๆ ที่จำเป็นต้องดำเนินการประกอบด้วย 1) การพิจารณาเลือกพื้นที่ที่ต้องการปล่อยสัตว์ป่าเพื่อการฟื้นฟูประชากรบนพื้นฐานการคิดประเมินอย่างรอบด้าน 2) สัตว์ที่ต้องการนำไปปล่อยมีทักษะที่สามารถดำรงชีพในสภาพธรรมชาติได้ 3) การติดตามสัตว์หลังจากการปล่อยคืนธรรมชาติที่ต้องใช้ทุกวิธีการเพื่อให้รู้ข้อมูลหลังจากปล่อยสัตว์คืนสู่ธรรมชาติ
การดำเนินการปล่อยบะลาโกลคืนสู่ธรรมชาติ ได้ดำเนินมาจนถึงขั้นตอนที่ 3 คือการติดตามหลังการปล่อยโดยสถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่นั้นได้ใช้หลากหลายวิธีในขั้นตอนของการติดตาม เช่น การติดตั้งกล้องดักถ่ายในพื้นที่ การติดตั้งกล้องติดตามแบบ real time และการติดตามสัญญาณผ่านปลอกคอทั้งแบบใช้ข้อมูลดาวเทียม และการใช้คลื่นความถี่ VHF ในการตามหาตัว รวมถึงการสำรวจร่องรอย
จากการติดตามบะลาโกลหลังปล่อยคืนธรรมชาติไป มีการพบเจอร่องรอย และเศษชิ้นส่วนของสัตว์ที่ตกเป็นอาหารของบะลาโกล ทำให้เชื่อได้ว่าบะลาโกลนั้นสามารถล่าหาอาหารในสภาพธรรมชาติได้ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จก้าวแรกของการดำรงชีวิตในป่า แต่สำหรับความสำเร็จในก้าวต่อๆ ไปนั้น คงต้องใช้และให้เวลากับบะลาโกลซึ่งยังอยู่ในช่วงของการสร้างการเจริญเติบโตทั้งขนาดของร่างกายและพัฒนาการทางระบบการสืบพันธุ์
The result of the reintroduction of large carnivorous mammals can be considered successful if the released animal hunts successfully in the wild, chooses some habitats as a its home range, avoids conflict situations with humans, and breeds.
ภาษาอังกฤษข้างบนกล่าวไว้ว่า ผลสำเร็จของการปล่อยคืนสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่นั้นจะพิจารณาได้จาก การล่าหากินได้เองตามธรรมชาติ การตั้งถิ่นฐานเพื่ออาศัยและหากิน การสามารถหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับมนุษย์ และท้ายสุดสัตว์ป่าที่ปล่อยคืนนั้นสามารถสืบต่อพันธุ์ได้
สำหรับบะลาโกลในตอนนี้ถือว่ายังอยู่ห่างคำว่า “สำเร็จ” อีกหลายช่วงตัว แต่อย่างไรก็ดีล่าสุดนั้นมีข้อมูลภาพถ่ายที่ได้มาจากการทำงานขององค์กรอิสระFreeland ที่ทำให้ได้เห็นการปรากฏตัวในป่าธรรมชาติเป็นครั้งแรกหลังจากปล่อยคืนสู่ธรรมชาติไป หากต่อไปในอนาคตบะลาโกลดำเนินชีวิตได้จนแตะความสำเร็จที่ว่าไว้ มันก็คือความสำเร็จของการดำเนินการเคลื่อนย้ายเสือโคร่งครั้งแรกของไทย แต่ถ้าไม่บรรลุจุดหมายปลายทาง ก็ยังนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของมนุษย์ในการพยายามกอบกู้สถานการณ์ประชากรเสือโคร่งไทย
ขอบคุณภาพถ่ายจากFreeland
ที่มา สถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่