เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



รมช.กษ ลงพื้นที่ติดตามและเร่งหาทางช่วยเหลือชาวนา จ.สุรินทร์ หลังโรคไหม้คอรวงข้าวระบาดหนัก


28 ต.ค. 2562, 17:45



รมช.กษ ลงพื้นที่ติดตามและเร่งหาทางช่วยเหลือชาวนา จ.สุรินทร์ หลังโรคไหม้คอรวงข้าวระบาดหนัก




วันนี้ ( 28 ต.ค.62 ) ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ที่แปลงนาของเกษตรกรบ้านอู่โลก ต.อู่โลก อ.ลำดวน จ.สุรินทร์ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะ ได้ลงพื้นที่ เพื่อติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคไหม้คอรวงข้าว แปลงปลูกข้าวหอมมะลิ กข 15 ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ พื้นที่อำเภอลำดวน อำเภอสำโรงทบ โดยมี นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ นายปกรณ์ มุ่งเจริญพร ส.ส.สุรินทร์ เขต 1 พรรคภูมิใจไทย นายมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.พรรคเพื่อไทย พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเกษตรกรชาวนาในพื้นที่ให้การต้อนรับและรายงานข้อมูลที่เกิดขึ้น

พื้นที่นาข้าว ต.อู่โลก อ.ลำดวน เป็น 1 ในพื้นที่นาของเกษตรกรที่ประสบปัญหาโรคไหม้คอรวงข้าวระบาดในแปลงนาข้าวหอมมะลิ พันธุ์ กข 15 โดยการลงพื้นที่ของ รมช.เกษตรและสหกรณ์ครั้งนี้ เพื่อรับทราบปัญหาและหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหา โดยเฉพาะการจัดหาเมล็ดพันธุ์ช่วยเหลือเกษตรกร ในฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ ซึ่งกรมการข้าวพร้อมจัดหาและแจกจ่ายให้กับชาวนาที่ประสบปัญหา ในการเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไป อีกทั้งได้มอบเชื้อไตรโคเดอร์ม่าให้กับตัวแทนเกษตรกร เพื่อนำไปขยายเชื้อแจกจ่ายให้กับเกษตรกรที่ประสบปัญหาโรคไหม้คอรวงข้าว นำไปฉีดพ่นในแปลงนา นอกจากนี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับปากที่จะให้การสนับสนุนในเรื่องโรงอบเมล็ดพันธุ์ข้าวให้กับสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่อีกด้วย จากนั้น รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางต่อไปยังพื้นที่บ้านหนองเสือ หมู่ 8 ต.ศรีสุข อ.สำโรงทาบ จ.สุรินทร์ เพื่อติดตามสถานการณ์ปัญหาในเรื่องเดียวกันนี้ ซึ่งพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ ได้รับความเสียหายกระจายไปทั่วอำเภอ

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดต้องยอมรับเกษตรกรรู้จักการพัฒนาตนเองรับมือ โดยการทำเชื้อไตรโคเดอร์ม่าใช้ในการเพาะปลูก เพื่อแก้ไขปัญหา แต่ก็มีปัญหาเรื่องของการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวซ้ำซากในแปลงเดียวกัน เลยส่งผลให้พืชไร่อ่อนแอทำให้โรคต่างๆ เกิดขึ้น ซึ่งทางกรมการข้าว และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ให้ความสำคัญ ซึ่งหากรวมตัวกันเป็นเกษตรแปลงใหญ่การช่วยเหลือก็จะดีขึ้น โดยกรมการข้าวจะแจกเมล็ดพันธุ์ข้าวให้กับเกษตรกร และก็ให้เน้นย้ำเกษตรกรอย่าเก็บเมล็ดพันธุ์ที่เกิดโรคไว้ ต้องนำเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ประสบปัญหาออกไป ต่อไปจะมีนโยบายให้เกษตรจังหวัดในแต่ละพื้นที่ จะต้องมีการอบรมเกษตรกรก่อนที่จะทำการปลูกอะไรลงไป เพราะหากเกษตรกรมีความรู้ก็จะได้เข้าใจในสิ่งที่ทำ

ส่วนเรื่องของเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่จะแจกจ่ายให้กับเกษตรกรที่ประสบปัญหา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยืนยันมีเพียงพอ ซึ่งต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่มีนโยบายให้บางส่วนไปซื้อกับสหกรณ์ ซึ่งสหกรณ์ใดในจังหวัดนั้นๆ ที่มีเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เหลือ ก็สามารถรวบรวมแล้วมาขายให้กับรัฐบาลได้

ในขณะเดียวกันความต้องการเยียวยาและให้การช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบบัญหาโรคไหม้คอรวงข้าวนั้น ทางด้าน นายไกรสร กองฉลาด ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ในส่วนของความต้องการของเกษตรนั้นแบ่งออกเป็น ส่วนที่เสียหายแล้วคือเงินเยียวยา ซึ่งต้องของบกลางในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไป ส่วนประเด็นที่ 2 ความเสียหายในครั้งนี้แตกต่างจากกรณีน้ำท่วม กับฝนแล้ง หากเกษตรกรแจ้งได้รับผลกระทบจาก 2 อย่างนี้ก็จะไม่ได้ค่าเก็บเกี่ยว แต่ในครั้งนี้ชาวบ้านจะต้องเก็บเกี่ยว แม้จะเสียหายในเชิงเศรษฐกิจ 90% ก็ตาม กรมการข้าวจะจ่ายค่าชดเชยชาวนาก็ต้องเก็บเกี่ยว ก็ขอฝากรัฐบาลผ่านรัฐมนตรี เป็นไปได้หรือไม่การเยียวยาก็จ่ายให้ และค่าช่วยเหลือในการเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วย เพราะอย่างไรชาวนาก็ต้องเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ชาวบ้านอยากได้ เท่าที่ตนลงพื้นที่และรับฟังจากชาวบ้าน


 

สำหรับพื้นที่ระบาดของโรคไหม้คอรวงข้าวในนาข้าว หอมมะลิ ของชาวบ้านของจังหวัดสุรินทร์ พบขยายวงกว้างจำนวน 13 อำเภอ จากทั้งหมด 17 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ลำดวน ระบาด จำนวน 5,533 ไร่, อ.สนม จำนวน 8,968 ไร่, อ.ศรีณรงค์ 850 ไร่, อ.ปราสาท 22,726 ไร่, อ.โนนนารายณ์ 874 ไร่, อ.สำโรงทาบ 12,620 ไร่, อ.สังขะ 830 ไร่, อ.ชุมพลบุรี 21,274 ไร่, อ.รัตนบุรี 5,135 ไร่, อ.เมืองสุรินทร์ 2,372 ไร่, อ.ศีขรภูมิ 9,924 ไร่, อ. เขวาสินรินทร์ 84 ไร่ และ อ.จอมพระ ระบาดจำนวน 110 ไร่ รวมทั้งหมด 91,300 ไร่

โดย ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ได้สั่งการให้นายอำเภอและเกษตรอำเภอ ระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เร่งหาทางป้องกันและควบคุมการระบาดอย่างเร่งด่วน ขณะที่ สนง.เกษตร จ.สุรินทร์ ได้ประสานงานขอเชื้อไตรโคเดอร์ม่า จากศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตร ด้านอารักขาพืช จ.นครราชสีมา เพื่อนำมาขยายเชื้อ และสอนวิธีขายเชื้อให้เกษตรกรชาวสุรินทร์ แล้วกว่า 1,000 กิโลกรัม เพื่อนำไปฉีดพ่นกำจัดโรคไหม้คอรวงข้าวแล้ว ส่วนอำเภอต่างๆ ที่โรคไหม้คอรวงข้าวกำลังระบาดได้เร่งสำรวจ เพื่อรายงานข้อมูลมาที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อพิจารณา ประกาศเป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัย เพื่อช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรตามระเบียบแล้ว

ทั้งนี้สาเหตุและปัจจัยของการเกิดโรคไหม้คอรวงข้าวในเบื้องต้น คือการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวจากแหล่งที่เกิดโรคไหม้จากปีที่แล้ว มาใช้ทำพันธุ์ในปีนี้ เกษตรกรหว่านข้าวแน่นเกินไป โดยใช้เมล็ดพันธุ์ 30-50 กิโลกรัมต่อไร่ ทำให้ต้นข้าวหนาแน่น เกิดความชื้นสูงใต้ต้นข้าว อากาศถ่ายเทไม่ดี และในช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 – สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา พื้นที่เพาะปลูกข้าวในเขต จ.สุรินทร์ กระทบปัญหาฝนทิ้งช่วง พอถึงเดือนกันยายน 2562 พายุพัดผ่าน ทำให้พื้นที่ทำนามีน้ำขัง เกษตรกรได้เร่งใส่ปุ๋ยเคมีบำรุงต้น และมีการใช้ปุ๋ยยูเรียผสมเคมีสูตร 16-16-8 หว่านในนาข้าว ในอัตราประมาณ 30-50 กิโลกรัมต่อไร่

 











Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.