ศาลรธน. ตีตก BTSC ร้อง ป.ป.ช.ชี้มูลไม่ชอบ ระบุหากมองถูกละเมิดสิทธิ สามารถร้องศาลอื่นได้
31 ก.ค. 2567, 16:36
วันนี้ ( 31 ก.ค.67 ) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่เอกสารข่าว ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูยประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญ และเป็นที่สนใจ ดังนี้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) และคณะ (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 (เรื่องพิจารณาที่ ต. 34/2567)
บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) และคณะ (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า การกระทําของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ผู้ถูกร้อง) ที่นําข้อเท็จจริงเรื่องเดียวกันกับที่พนักงานอัยการมีคําสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ร้องทั้งสามขึ้นไต่สวนอีกครั้ง ไต่สวนเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกําหนด และมีมติวินิจฉัยชี้มูลความผิดผู้ร้องทั้งสาม เป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรม มีอคติ ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 23 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 26 และมาตรา 29 และสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดหรือยกเลิกการกระทําที่ละเมิดสิทธิ และเสรีภาพของผู้ร้องทั้งสาม
ผลการพิจารณา
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคําร้องและเอกสารประกอบคําร้อง เป็นการที่ผู้ถูกร้องมีมติชี้มูลความผิดและการไต่สวนผู้ร้องทั้งสาม อันเป็นการกระทําโดยอาศัยอํานาจตามกฎหมาย หากมีการกระทําผิดขั้นตอนใดและผู้ร้องทั้งสามเห็นว่าเป็นการกระทําละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ ผู้ร้องทั้งสามสามารถใช้สิทธิตามกระบวนการยุติธรรมต่อศาลอื่นได้ เป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้กําหนด
กระบวนการร้องหรือผู้มีสิทธิขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 47 (2) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคําร้องไว้พิจารณา ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคําร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีค่าสั่งไม่รับคําร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย