กระทรวงเกษตรฯ เร่งประสานกระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการด้านการตลาดสินค้าลำไยอย่างมีประสิทธิภาพ
1 ส.ค. 2567, 09:01
วันนี้ (1 ส.ค. 67) น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การทีประชุมสภาฯมีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติยุทธศาสตร์ลำไย พ.ศ.และได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาถึงปัญหาดังกล่าวให้กับเกษตรกรผู้ปลูกลำไยนั้น ถือเป็นก้าวแรกที่ดี ที่จะยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรตามนโยบายรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่นำโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น โดยได้มีการตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการผลผลิตลำไยคุณภาพ ที่มีนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะขึ้นมาเพื่อเร่งแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
น.ส.เกณิกา กล่าวต่อว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการผลผลิตลำไยคุณภาพ ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขลำไยทั้งระบบ ได้แก่ 1.การตั้งคณะกรรมการหรือหน่วยงานภาครัฐกำหนดมาตรการทางกฎหมายในการรับซื้อลำไยสดช่อ 2.การรับซื้อลำไยแบบตะแกรงร่อนให้เป็นไปตามราคาที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศ และ 3 การติดป้ายราคารับซื้อลำไยสดและลำไยร่อนร่วง ซึ่งได้มีการมอบหมายคณะทำงานพัฒนาตลาดและการตลาดสินค้าและผลิตภัณฑ์ลำไย ประสานกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในการกำกับติดตามและพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการด้านการตลาดสินค้าลำไยดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ กรณีการทำสัญญาซื้อ-ขาย ผลผลิตลำไยทั้งสวนหรือเป็นกิโลกรัม ต้องให้มีหน่วยงานหรือองค์กรกำกับดูแลในการทำนิติกรรมสัญญาซื้อ-ขาย ซึ่งสามารถทำได้โดยอ้างอิงระบบเกษตรพันธสัญญา มีสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักในการควบคุมดูแล ทั้งนี้ ระบบเกษตรพันธสัญญาจะช่วยสร้างความเชื่อมั่น และความเข้มแข็งทางธุรกิจของประเทศให้สามารถแข่งขันตลาดการค้าเสรีได้
น.ส.เกณิกา กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการตลาดสินค้าลำไยในสถาบันเกษตรกร ฤดูกาลผลิต ปี 2567 และโครงการสนับสนุนการกระจายผลไม้เพื่อยกระดับราคาของสถาบันเกษตรกร ปี 2567 รวมถึง Model การกระจายผลผลิตลำไยในฤดูกาล โดยกรมส่งเสริมการเกษตรและองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ร่วมกันเป็นหน่วยงานหลักในการจัดหาพื้นที่จำหน่ายสินค้าลำไย แนวทางการจำหน่ายผลผลิตผ่านแผนกธุรกิจของ อ.ต.ก. และการจำหน่ายสินค้าผ่าน Modern trade หรือช่องทางออนไลน์ต่อไปด้วย