วธ. เชิญชวน ปชช. ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ร่วมโหวตเลือกเมนูอาหารถิ่น Thailand Best Local Food “รสชาติ..ที่หายไป The Lost Taste” ประจำปี 2567
5 ส.ค. 2567, 11:36
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า ขณะนี้โครงการขับเคลื่อน Soft power ด้านอาหารที่สำคัญของประเทศ คือ โครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่นสู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) “รสชาติ..ที่หายไป The Lost Taste” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” ในขณะนี้ ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศได้เมนูอาหารเบื้องต้นที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกจากคณะกรรมการด้านอาหารของแต่ละจังหวัดแล้ว และในตอนนี้ อยู่ระหว่างการเปิดให้ประชาชนในพื้นที่ของแต่ละจังหวัดและประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ใช้สิทธิ์โหวตเลือกเมนูที่แต่ละคนเห็นว่าเหมาะสม ควรได้รับเลือกเป็นเมนูอาหารถิ่นประจำปี และได้รับการเชิดชูเข้าสู่กระบวนการยกระดับให้เป็นอาหารยอดนิยมของแต่ละจังหวัด ต่อไป
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวอีกว่า เพื่อให้เมนูอาหารถิ่น ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและประชาชนทุกพื้นที่ทั่วประเทศ มีส่วนร่วมในการเชิดชูอาหารของจังหวัดตนเอง จึงขอเชิญชวนพี่น้อง ประชาชนทั่วไปในทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ร่วมโหวตเลือกเมนูอาหาร โดยในส่วนจังหวัดต่างๆ โหวตได้ที่เพจสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ส่วนกรุงเทพมหานครร่วมโหวตทาง เฟสบุ๊กกรมส่งเสริมวัฒนธรรม หรือทาง https://forms.gle/gJkno9mpJMEBTYAWA ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2567 (ปิดโหวตเวลา 16.30 น.)
รมว.วธ.กล่าวทิ้งท้ายว่า “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” หมายถึง เมนูอาหารถิ่นที่เสี่ยงต่อการสูญหาย หาทานได้เฉพาะถิ่น ไม่ได้มีการบริโภคอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ควรได้รับการรักษาและสืบทอด เพราะเป็นอาหารที่แสดงถึงภูมิปัญญา ความผูกพันในวิถีชีวิตและนำวัตถุดิบพื้นถิ่นมาประยุกต์ใช้เป็นส่วนประกอบ ภายใต้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นอาหารที่มีคุณค่า เป็นแบบอย่างที่ควรเชิดชูให้อยู่คู่ท้องถิ่น ทำให้เกิดการรักษาและฟื้นฟู พัฒนาไปสู่เมนูอาหารถิ่นที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของชุมชน โดยเป็นเมนูที่มีองค์ประกอบ คือ (1) ด้านประวัติความเป็นมา/ภูมิปัญญา/ด้านวิธีการปรุง/เคล็ดลับ (2) ด้านคุณค่าควรแก่การสืบสานและถ่ายทอด (3) ด้านวัตถุดิบท้องถิ่นที่สำคัญของอาหาร (4) ด้านการเผยแพร่และพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (5) ด้านโภชนาการ และ (6) ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นั่นเอง