รมว.อุตสาหกรรม เร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสีเขียวในพื้นที่ภาคใต้ ดันธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อโลก เพื่อเรา
10 ส.ค. 2567, 10:37
วันที่ 9 สิงหาคม 2567 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดการสัมมนาและกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “Moving Green Forward ก้าวไปข้างหน้า เพื่อโลก เพื่อเรา” โดยมีนายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายไตรรัตน์ ไชยรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าร่วมในการเปิดงาน และมีผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้เข้าร่วมกว่า 300 ราย ณ โรงแรมเมืองลิกอร์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงและความผันผวนจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และเทคโนโลยี ทั้งนี้ยังรวมถึงผลกระทบจากวิกฤตสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่าง ๆ ให้ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาวะโลกเดือด ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้นจนเกินสมดุล เพื่อผลักดันภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตทางเศรษฐกิจและตอบโจทย์ตลาดโลก ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม จึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนพร้อมปรับสู่การเป็นหน่วยงานที่ “สู้ให้ทุกปัญหา พึ่งพาได้ทุกเรื่อง”
โดยกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้ก้าวไปข้างหน้า เพื่อโลก เพื่อเรา ส่งต่ออุตสาหกรรมสีเขียวจากรุ่นสู่รุ่นผ่านกลไก 3 ด้าน คือ 1) Green Productivity 2) Green Marketing และ 3) Green Finance และได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งสร้างการรับรู้ให้ภาคอุตสาหกรรมได้ตระหนักและให้ความสำคัญ ในการลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดการภาวะโลกร้อนที่เป็นความท้าทายต่อภาคการผลิตของประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถนำร่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมได้มากกว่า 7.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม ขานรับทิศทางการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมทั้ง 3 ด้าน โดยเชื่อมกับนโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต มุ่งยกระดับให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมสามารถปรับตัวให้ก้าวทันอุตสาหกรรมยุคใหม่ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก (RESHAPE THE INDUSTRY) โดยเฉพาะในเรื่องของการดำเนินธุรกิจที่จะต้องคำนึงถึงความยั่งยืน ผ่านการจัดกิจกรรม “Moving Green Forward ก้าวไปข้างหน้า เพื่อโลก เพื่อเรา” โดยโครงการยกระดับธุรกิจ SME ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ยังมีรูปแบบกิจกรรมที่มุ่งส่งเสริมการใช้นวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยตั้งเป้ายกระดับผู้ประกอบการให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศจำนวนกว่า 1,800 ราย และคาดการณ์ว่าการดำเนินโครงการดังกล่าว สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 1,380 ล้านบาท ทั้งนี้ ดีพร้อม เชื่อมั่นว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่สำคัญของภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608
นายภาสกร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกิจกรรมดังกล่าวฯ เป็นการเร่งสร้างการรับรู้ให้ภาคอุตสาหกรรมได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมในภาคใต้เกิดความตระหนักเห็นถึงความสำคัญของการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การมุ่งหน้าสู่สังคมไร้คาร์บอน (Net-Zero) และการติดตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ด้วยการจัดให้มีการบรรยายและเสวนาจากผู้เชี่ยวชาญ บริษัทชั้นนำ และผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
รวมทั้งการแสดงผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการและวิสาหกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมจากธรรมชาติ อย่างคุ้มค่าจากกล่มเครือข่ายและผู้ประกอบการ จำนวน 8 กลุ่ม ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกล้วยกรอบทองบ้านศาลา วิสาหกิจชุมชนขนมแปรรูปป้าแดง วิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวเชิงเกษตรผสมผสานกรุงชิง วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ วิสาหกิจชุมชนผึ้งชันโรงท่าศาลา วิสาหกิจชุมชนปลาใสอวนแม่กวน วิสาหกิจชุมชนผู้ประกอบการท่องเที่ยวพรหมโลก และเพ็ชรคีรี คอสเมติก รวมถึงการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวข้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามกระแสรักษ์โลกตามโครงการสนับสนุนด้านการลงทุนตามแนวทาง BCG จากอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และโครงการสนับสนุนพลังชุมชนเพื่อชุมชนเข้มแข็งจากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย (ทุ่งสง) จำกัด
นอกจากนี้ยังมีการบริการด้านสินเชื่อสำหรับธุรกิจรักษ์โลกจากสถาบันการเงิน จำนวน 6 หน่วยงาน ได้แก่ สินเชื่อธนาคารออมสิน สินเชื่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) สินเชื่อค้ำประกันจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สำนักงานเขตภาคใต้ตอนล่าง สินเชื่อเพื่อหมุนเวียนธุรกิจ SME จากบริษัท ลิชอิท จำกัด และสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนจากดีพร้อม