ป.ป.ช. กาญจน์ ร่วมกับ ป.ป.ช. ภาค 7 และแขวงทางหลวงชนบทกาญจนบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง
16 ส.ค. 2567, 17:21
วันนี้ 16 ส.ค. 2567 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายพิศิษฐ์ พัฒนกิจจำรูญ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 เพจ Facebook Page ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน ได้เผยแพร่ข่าวว่า “เน้นรางวี ไม่เน้นถนน ถนนลาดยางของเทศบาลตำบลท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี พิกัดชานชาลาชาเลต์ ม.2 กำหนดปริมาณงานถนนกว้าง 4-6 เมตร รวมบ่อพักและรางวี ระยะทาง 345 เมตร ราคากลางสามล้านห้า บิดมาสองล้านแปด หน้าถนนจริงกว้างประมาณ 2 เมตร”
พบว่าโครงการดังกล่าวเป็นโครงการก่อสร้างถนนแอสฟัลท์ติกคอนกรีตพร้อมวางท่อระบายน้ำ ค.ส.ล. บริเวณชานชาลาชาเลต์ หมู่ 2 ของเทศบาลตำบลท่ามะกา อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี จัดซื้อจัดจ้างโดยวิธี e-Bidding จากการสอบถามเบื้องต้น เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแจ้งว่าถนนในโครงการมีความยาว 345 เมตร มีความกว้าง 2 ช่วง มีลักษณะคล้ายรูปตัว L ช่วงแรกมีความกว้างประมาณ 6 เมตร ความยาวประมาณ 245 เมตร เดิมเป็นถนนแอสฟัลท์ติกคอนกรีต และช่วงที่ 2 มีความกว้างประมาณ 4 เมตร ความยาวประมาณ 100 เมตร เดิมเป็นถนนหินคลุกไม่มีรางวี ซึ่งเป็นช่วงถนนที่ Facebook Page ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน นำมาเผยแพร่
โดยเมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา ผมในฐานะ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดกาญจนบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่กลุ่มงานป้องกันการทุจริต เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 7 ผู้แทนจากแขวงทางหลวงชนบทกาญจนบุรี และชมรม STRONG - จิตพอเพียงต้านทุจริต จังหวัดกาญจนบุรี จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามที่ได้รับแจ้งข้อมูลจากศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ (CDC)
จากการลงพื้นที่ที่ตั้งโครงการ พบว่าช่วงถนนที่มีความกว้างประมาณ 4 เมตร รวมรางวี 2 ข้าง เป็นการสร้างถนนใหม่ต่อจากถนนแอสฟัลติกท์ ที่สร้างมาก่อนแล้วโดยมีความกว้างประมาณ 6 เมตร มีรางวีข้างเดียว ทำให้ลักษณะรูปแบบของถนนมีสภาพต่างกันและดูแคบลง โดยเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบแจ้งว่าสาเหตุที่ต้องดำเนินโครงการลักษณะดังกล่าว เนื่องจากช่วงหน้าฝนมีน้ำท่วมขังและเป็นการดำเนินการที่จะรองรับการขยายตัวของชุมชนในอนาคตเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง ประกอบกับไม่สามารถขยายความกว้างของถนนได้เนื่องจากเป็นที่ของประชาชน
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่แขวงทางหลวงชนบทกาญจนบุรี ได้ตั้งข้อสังเกตการเทผิวแอสฟัลท์ติกคอนกรีตช่วงดังกล่าวความสูงของพื้นผิวถนนต่ำกว่ารางวี ซึ่งอาจจะมีผลต่อการระบายน้ำลงไปยังรางวี และการก่อสร้างไม่รับกับแนวถนนที่เชื่อมต่อ เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. จึงได้แนะนำเพิ่มเติมใน 4 ข้อ
ข้อ 1 การออกแบบควรคำนึงถึงสภาพถนนที่เชื่อมต่อกันให้มีลักษณะสภาพเดียวกัน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้สัญจรและลดอุบัติเหตุบนท้องถนน และควรสำรวจพื้นที่ก่อนออกแบบเพื่อลดปัญหาการดำเนินโครงการ
ข้อ 2 ให้ผู้รับจ้างดำเนินการแก้ไขส่วนที่ชำรุดเสียหาย
ข้อ 3. หน่วยงานควรดำเนินการกำจัดวัชพืชที่ขึ้นปกคลุมพื้นไหล่ทางเนื่องจากถนนมีความแคบจะยิ่งทำให้การสัญจรยากลำบากขึ้น และ ข้อ 4. ควรมีการประชาสัมพันธ์การรับรู้ให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบที่มาและความจำเป็นของโครงการเพื่อสร้างความเข้าใจให้ประชาชน
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ที่ร่วมลงพื้นที่ได้เน้นย้ำให้การดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย อย่างเคร่งครัด เพื่อลดปัญหาการร้องเรียนและปัญหาการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต