"เทศบาลเมืองนครพนม" ปักธงเตือนน้ำโขงสูง พร้อมเสริมเครื่องสูบน้ำรับมือ
27 ส.ค. 2567, 15:06
วันที่ 27 ส.ค.67 ระดับน้ำโขงบริเวณเขตเทศบาลเมืองนครพนม ยังคงเพิ่มระดับต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากมวลน้ำทางภาคเหนือ รวมถึงเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ที่ตั้งสามเหลี่ยมทองคำ ตรงข้ามกับ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ที่เกิดอุทกภัยน้ำท่วมหนัก ไหลลงสมทบลำน้ำโขงจึงกลายเป็นก้อนน้ำขนาดใหญ่ ไหลผ่านจังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เป็นระยะทาง 1,520 กิโลเมตร แล้วไหลเข้าสู่ประเทศลาวอีกครั้ง และประเทศกัมพูชา ก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ที่ประเทศเวียดนาม
ในส่วนของ จ.นครพนม สถานีวัดระดับน้ำอัตโนมัติฯ กรมทรัพยากรน้ำ วัดปริมาณล่าสุดอยู่ที่ระดับ ประมาณ 10.35 เมตร เพิ่มจากวานนี้ 18 เซนติเมตร และห่างจากจุดวิกฤตประมาณ 1 เมตรเศษคือ 12 เมตร หากน้ำโขงไต่ระดับถึงจุดล้นตลิ่ง จะส่งผลให้น้ำทะลักเข้าเมืองตามจุดระบายน้ำ ทางเทศบาลเมืองนครพนม ต้องมีการปิดทางระบายน้ำทุกจุด พร้อมได้ระดมติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ ทั้งระบบไฟฟ้าและดีเซล เตรียมรับมืออย่างเต็มความสามารถ หากน้ำโขงถึงจุดล้นตลิ่งตามที่มีการคาดการณ์ไว้ เพื่อสูบมวลน้ำจากตัวเมืองระบายลงโขง ทั้งนี้เป็นกรณีมีฝนระลอกใหม่ตกต่อเนื่อง และมีน้ำไหลทะลักย้อนเข้าพื้นที่ตัวเมือง จึงวางแผนป้องกันน้ำท่วมชุมชน และพื้นที่เศรษฐกิจ
โดยเทศบาลเมืองนครพนม ได้มีรถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ ประกาศแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนว่า ในแต่ละวันมีปริมาณน้ำเท่าไหร่ โดยมีธง 3 สีเป็นระดับการแจ้งเตือนน้ำท่วม บริเวณริมแม่น้ำโขง ลานพนมนาคา พญาศรีสัตตนาคราช ถนนสุนทรวิจิตร คือ ธงสีเขียวหมายถึงระดับน้ำไม่เกิน 10 เมตร สีเหลือง ระดับน้ำ 11-11.50 เมตร และสีแดงระดับน้ำ 12 เมตรขึ้นไป ถือเป็นขั้นวิกฤตต้องอพยพสิ่งของขึ้นที่สูงทันที
ขณะที่ทางด้าน นางสาวแจ็ค อายุ 50 ปี แม่ค้าขายต้มเลือดหมูใต้ถุนลานพญานาค เปิดเผยว่าทางชลประทานนครพนม แจ้งกับผู้ค้าใต้ลานพญานาคว่า ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นสูงอีกประมาณ 30 เซนติเมตร และตอนนี้ก็ถือยังเป็นปกติ แต่ก็มีการเตรียมการณ์ไว้ หากระดับน้ำเพิ่มพรวดพราด ทม.นครพนมก็จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือขนสิ่งของขึ้นที่สูง โดยใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที
นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงฝนตกฟ้าคะนอง ระหว่างวันที่ 26-28 สิงหาคม โดยมีจังหวัดนครพนมอยู่ในเขตสีแดง คือมีความเสี่ยงสูง ปรากฏว่าในช่วงเช้ามีเมฆปกคลุมทั้งพื้นที่ฝั่งนครพนม และเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว โดยนายเสกสันต์ ไชยบูลย์ เปิดเผยทางโทรศัพท์ว่า ฤดูฝนในแต่ละปีจะพีคสุดในช่วงเดือนกรกฎาคมต่อถึงเดือนสิงหาคม ปีนี้ถือว่าปริมาณน้ำไม่รุนแรงเหมือนทางภาคเหนือและภาคกลาง สำหรับเดือนสิงหาคมฝนจะหมดไม่เกินวันที่ 30 ส.ค.นี้ ก็ต้องดูต่อไปในเดือนกันยายนว่า จะมีการก่อตัวของพายุหรือไม่ ส่วนร่องความกดอากาศจะไม่พาดผ่านมาทางภาคอีสานตอนบน แต่มีทิศทางไปประเทศเมียนมา
ในขณะเดียวกันมีรายงานจากสถานีน้ำทางเหนือ เริ่มจากจิ่งหง (จีน) เชียงแสน (ไทย) เชียงคาน หนองคาย นครพนม มุกดาหาร และโขงเจียม ว่า ในภาพรวมมีแนวโน้มถึงสถานการณ์ระดับน้ำจะลดลง โดยพื้นที่นครพนมภายใน 1-5 วัน จะมีปริมาณสูงอีกไม่น่าเกิน 25 เซนติเมตร จากนั้นก็จะลดระดับลงจนสู่ภาวะปกติ ยกเว้นมีฝนระลอกใหม่ตกลงมาเติม แต่ไม่ถึงขั้นวิกฤต
อนึ่ง ผลจากน้ำโขงสูงเกิน 10 เมตร ส่งทำให้ลำน้ำสาขาสายหลัก อาทิ ลำน้ำก่ำ ลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม ลำน้ำยาม รวมถึงลำห้วยมีปริมาณสูง เกิดปัญหาเอ่อท่วมพื้นที่ลุ่ม และพื้นที่การเกษตร จากการสำรวจของหน่วยงานกระทรวงเกษตร มีภาพรวมพื้นที่นาข้าวในพื้นที่ ลุ่มน้ำอูน ลุ่มน้ำสงคราม อ.นาทม อ.ศรีสงคราม ถูกน้ำท่วมขังแล้วมากกว่า 20,000 ไร่ ซึ่งหลังน้ำลดต้องสำรวจอีกครั้ง ว่า มีนาข้าวที่เสียหายถาวรจำนวนกี่ไร่