"ชาวสกลนคร" รอบหนองหาร ได้เฮ ! นายกฯ เตรียมพร่องน้ำเพื่อการพัฒนา
30 ต.ค. 2562, 11:18
นายชัยมงคล ไชยรบ นายก อบจ.สกลนคร เปิดเผยว่า ทะเลสาบหนองหารอยู่คู่สกลนคร มาช้านาน และเปรียบเสมือนเอกลักษณ์ ของ จ.สกลนคร ดังเช่นในคำขวัญของจังหวัด ที่ว่างามลือเลื่องหนองหาร ฉะนั้นวันนี้ เราไม่ได้มาพูดถึงเรื่องการเมือง แต่เราพูดถึงความสำนึกรักบ้านเกิด หลายคนพูดถึงหนองหาร พูดกันมาเป็น 10 ปี ๆ แต่ไม่สามารถนับหนึ่งได้ เพราะขาดการรวบรวมอย่างเป็นระบบ ขาดการรวมพลังให้เป็นหนึ่งเดียว ในการพัฒนาหนองหารนั้น อยากให้ประชาชนเป็นผู้นำระบบราชการ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ชี้นำประชาชน โดยประชาชนก็ขาดการมีส่วนร่วม ซึ่งตนเห็นว่าเรื่องในบ้านเรา จะมีใครรู้ดีกว่าเราชาวสกลนครเป็นไปไม่ได้ การพัฒนาหนองหาร ก็ต้องอาศัยคนสกลนครเช่นกัน ซึ่งในการประชุมของนักวิชาการ และตลอดทั้งผู้นำชุมชนทั้ง 13 อบต.และอีก 2 เทศบาล ที่ตั้งอยู่รอบหนองหารที่ผ่านมา สรุปได้ว่าในฐานะที่เราเป็นคนสกลนคร หนองหารซึ่งมีพื้นที่ กว่า 7 หมื่นไร่ หากเราจะเสนอเพื่อพร่องน้ำหนองหาร จะเป็นประโยชน์กับพี่น้องชาวสกลนครอย่างแน่นอน วันนี้เราต้องเริ่มต้นอย่างกล้าหาญ ที่จะทำเพื่อบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง ทราบมาว่า รัฐบาลมีแผนพัฒนาแหล่งน้ำหลักอยู่ 3 แหล่ง นั้นก็คือ กว้านพะเยา บึงบอระเพ็ด และหนองหาร เพราะทั้ง 3 แหล่งน้ำนั้นมีปัญหาเหมือนกันคือคุณภาพของน้ำ วันนี้วัชพืชถูกกำจัดไปแล้ว ทำให้หนองหารมีทัศนียภาพที่สวยงาม สิ่งที่จะต้องทำต่อไปคือการพร่องน้ำ ซึ่งจะมีการพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องกันอีกครั้ง และจะต้องทำประชาพิจารณ์ถึงข้อดีข้อเสีย
นายก อบจ.สกลนคร กล่าวว่า การพร่องน้ำนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญ วันนี้เราจะนำเสนอแนวทางการพร่องน้ำหนองหารต่อรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลต้องฟังเสียงประชาชน และต้องดำเนินไปตามที่ประชาชนได้วางกรอบไว้ เพื่ออนาคตที่ดีของลูกหลานเรา แม้ในวันนี้หลายคนจะพะวงในสิ่งที่จะเกิดขึ้นในการพร่องน้ำจากหนองหาร แต่ถ้าเราไม่กล้าเสนอแผนการพัฒนา ฟื้นฟูนี้ เรื่องนี้ ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย บ้านเมืองนี้ก็จะอยู่อย่างนี้ต่อไปเรื้อยๆ โดยไม่ได้รับการพัฒนา วันนี้ เรามาปรึกษาหารือกันว่า การพร่องน้ำหนองหารดีหรือไม่อย่างไร หากมีการพร่องน้ำ ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรบ้างไหม มีผลกระทบอะไรบ้างไหม จากการศึกษาหนองหารรับน้ำรับตะกอนจากแม่น้ำน้อย ใหญ่ จำนวน 22 สาย รับตะกอนปีละ 1 แสนตัน เมื่อมีการรองรับตะกอนทุกปีๆ หนองหารก็จะตื้นเขิน เกิดน้ำเน่าเสีย ทั้งเป็นแหลงสะสมเชื้อโรคต่างๆ
ดังนั้น แนวทางการพร้องน้ำหนองหาร ก็คือ แนวทางที่เข้าใจง่ายในภาษาชาวบ้านก็คือ ต้องตากหนองหาร คำว่าตากหนองหาร เหมือนกับการตากบ่อเลี้ยงปลา วิธีก็คือ การลดระดับน้ำในหนองหารลง เพื่อให้แสงแดดเผาทำลายวัชพืช และเชื้อโรคต่างๆ ปัจจุบัน หนองหารมีความสูงจากทะเล 156.7 เมตร ถ้าทำการพร่องลง 2 เมตร ให้เหลือ 154.7 แล้วทำการขุดลอก พื้นที่หนองหารก็จะมีพื้นที่รับน้ำมากขึ้นๆ ในแต่ละปี ดินตะกอนที่ขุดก็ให้หมู่บ้าน อบต.โดยรอบมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน ทำปุ๋ย อินทรีย์เอาไว้ปลูกพืช ตนเห็นว่าเริ่มลงมือทำ ดีกว่าไม่มีการเริ่มต้น เรื่องนี้ จะต้องมีการประชาพิจารณ์อีกครั้ง