"ภูมิธรรม" โชว์ฝีมือทำ "แกงกะหรี่อิสลาม" บูมอุตสาหกรรมฮาลาล สร้างงาน สร้างรายได้
4 ก.ย. 2567, 15:49
วันนี้ ( 4 ก.ย.67 ) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 208 – 209 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถนนรัชดาภิเษก เขตคลองเตย กรุงเทพฯ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในงาน Halal Inspirium : สร้างแรงบันดาลใจ นำอัตลักษณ์ฮาลาลไทยสู่สากล โดยมี นายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางนลินี ทวีสิน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการค้าต่างประเทศและอุตสาหกรรมฮาลาล นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เข้าร่วมด้วย
เมื่อเดินทางมาถึง ห้องประชุม 208 – 209 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายภูมิธรรม ฯ เยี่ยมชมบูธนิทรรศการฮาลาล พบปะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฮาลาลไทย พร้อมรับชม VDO นำเสนอกิจกรรม ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย และศักยภาพแฟชั่นมุสลิม ผ่านการเดินแฟชั่นโชว์
รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาเปิดงานส่งเสริมเละพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย Halal Inspirium : สร้างแรงบันดาลใจ นำอัตลักษณ์ไทยสู่สากล รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอาหารของโลก เป็นครัวของโลก ซึ่งไทยมีศักยภาพด้านอาหารมาก พร้อมยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรกรรม การสร้าง
มาตรฐานและความปลอดภัยทางอาหาร ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ พร้อมดูแลความมั่นคงทาง
อาหารโลก และพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต รวมทั้งอาหาร Halal อาหารสำหรับผู้ป่วย
และอาหารชนิดพิเศษอื่น ๆ รัฐบาลพร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ไป
จำหน่ายในต่างประเทศได้มากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อเป็นการกระตุ้น
เศรษฐกิจของประเทศไทย
ทั้งนี้ “สินค้าฮาลาล” เป็นสินค้าที่มีตลาดขนาดใหญ่มาก ด้วยมีมูลค่ามากกว่า 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งไทยถือได้ว่ามีความพร้อมในการเป็นฐานการผลิตสินค้าฮาลาล เนื่องจากเป็นแหล่งวัตถุดิบที่หลากหลาย และมีผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งและมีศักยภาพในการผลิตสินค้าฮาลาลเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีความพร้อมด้านแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ยังสามารถขยายตลาดได้อีกมากในหลายภูมิภาคทั่วโลก ไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมอาหาร ยังมีอุตสาหกรรมสินค้าฮาลาลอื่น ๆ ของไทยที่มีศักยภาพ เช่น เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย รวมถึง เวชภัณฑ์ฮาลาล แฟชั่นเสื้อผ้าสำหรับชาวมุสลิม เป็นต้น
นายภูมิธรรม ฯ กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมฮาลาล เป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ด้วยจำนวนประชากรมุสลิมที่เพิ่มขึ้นและกระจายตัวอยู่ทั่วโลก คิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรโลกและเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศมุสลิมยังมีอัตราขยายตัวเร่งขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก โดยเฉพาะความต้องการต่อสินค้าฮาลาลที่เพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศ ประกอบกับกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ใช่มุสลิมก็มีความต้องการสินค้าฮาลาลเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากมองว่ามีคุณภาพและความปลอดภัยสูง ทำให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าฮาลาลมาก ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการขยายตลาดสินค้าฮาลาลไปยังตลาดที่มีกำลังซื้อสูง เช่น ประเทศซาอุดีอาระเบีย กลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศ Non-Muslim อื่น ๆ ทั่วโลก โดย ซาอุดีอาระเบีย ถือเป็นประเทศผู้นำเข้าสินค้าฮาลาลที่สำคัญของโลก และเป็นแหล่งกระจายสินค้าไปยังกลุ่มประเทศกลุ่มตะวันออกกลางอื่น ๆ ได้แก่ คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) กาตาร์ และบาห์เรน สำหรับประเทศบรูไนเป็นอีกหนึ่งประเทศในอาเซียนที่มีศักยภาพ และเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการฮาลาลไทยในการขยายตลาดเพิ่มขึ้นตามนโยบายของอดีตนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม
ดำเนินการขับเคลื่อนและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม วางกลไกการจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบอุตสาหกรรมฮาลาลในรูปแบบศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล (ระยะสั้น) ภายใต้ (ร่าง) แผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2567-2570) และการจัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศโดยคาดหวังว่า จากศักยภาพและความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของไทย เชื่อว่า สามารถยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่การเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคได้
ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรียังชื่นชมกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ที่ทำงานอย่างหนักภายในระยะเวลาจำกัด สามารถดำเนินการขับเคลื่อนมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลให้เห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรมได้ภายในระยะเวลา 1 ปี ตามที่ได้รับมอบหมาย เช่น การแต่งตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ หรือ กอฮช. ขึ้น โดยมีอดีตนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) เป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาสินค้าฮาลาล รวมถึงกำกับ ดูแล และเร่งรัดการดำเนินงานของส่วนราชการและหน่วยงานต่าง ๆ ให้บรรลุตามเป้าหมาย การจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย (พ.ศ. 2567-2570) เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย ซึ่งทั้งหมดถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อน การสร้างความเข้มแข็ง และการสร้างโอกาสทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย
นอกจากนี้ นายภูมิธรรมกล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมฮาลาลสามารถยกระดับความเป็นอยู่ให้กับประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยการสร้างงาน สร้างรายได้ และก่อให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดงานในครั้งนี้ จะสร้างแรงบันดาลใจ สร้างการรับรู้และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ทุกท่าน ในการดำเนินงานของรัฐบาลอย่างจริงจังเพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทยให้ก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและเข้มแข็ง
ภายหลัง นายภูมิธรรม ฯ ได้ลงมือทำอาหารและรับชมการสาธิตการทำอาหาร “แกงกะหรี่อิสลาม” โดย เชฟนูรอ โซ๊ะมณี สเต็ปเป้ ร่วมกิจกรรมสร้างการรับรู้อาหารฮาลาลให้เป็นที่รู้จักในระดับสากลโลก ก่อนเดินทางกลับ