"ภูมิธรรม" แจงแนวคิดสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจ่อถกทุกฝ่าย ลดผลกระทบทั้งคนและป่า แก้น้ำท่วมซ้ำซาก
4 ก.ย. 2567, 15:56
วันนี้ ( 4 ก.ย.67 ) เวลา 11.05 น. ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นว่า เป็นเรื่องที่มีความเห็นแตกต่างกันมานานแล้ว นับเป็นเวลา 10 ปี แต่ในการลงพื้นที่ไปครั้งนี้ อยากเรียนว่าน้ำเหนือที่หลากมาทั้งหมดระหว่าง 4 แม่น้ำ เช่น แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง ไม่มีปัญหา เพราะการไหลหลากลงมามีเขื่อนภูมิพลรองรับน้ำ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างแม่น้ำปิง แม่น้ำวังไม่มีปัญหา และอีกส่วนหนึ่งทางเชียงรายน้ำที่ไหลหลากก็ไหลลงแม่น้ำโขงไป ทั้งนี้ ได้มีการประสานงานร่วมกับกรรมการลุ่มน้ำโขง ส่วนแม่น้ำน่านนั้น ส่วนหนึ่งก็ไหลลงแม่น้ำโขงอีกส่วนหนึ่งแม่น้ำอิง ไหลลงเขื่อนสิริกิต์ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างไร แต่ปัญหาอยู่ที่แม่น้ำยม โดยแม่น้ำยมเป็นแม่น้ำที่ไม่มีเขื่อนหรืออะไรไปรองรับน้ำได้ เพราะฉะนั้นน้ำก็จะหลาก จะเห็นได้ว่าเมื่อเข้าฤดูฝนตกทุกปีในประเทศแม่น้ำยมจะรับมือหนักที่สุด จะมีการไหลท่วมจังหวัดแพร่ จังหวัดพะเยา ลงมาจังหวัดสุโขทัย ซึ่งจังหวัดสุโขทัยเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 4 – 5 จังหวัด โดยประชาชนเรียกร้องว่าต้องการอะไรที่มารองรับน้ำไม่ต้องการให้มาท่วมบ้านเรือน เพราะในทุก ๆ ปี ก็เป็นแบบนี้เสมอมา ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูทรัพยากรต่าง ๆ ก็มีมูลค่าหลายแสนล้าน ไม่ควรจะมีเหตุการณ์แบบนี้ ควรมีการพูดคุยกันในเรื่องนี้อย่างเป็นเรื่องสาธารณะ นำทุกความเห็น โดยเมื่อวานก็จะมีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแต่ยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่นำเข้าที่ประชุม ต้องใช้เวลาหาข้อสรุปร่วมกันเพราะเราอยู่ในสังคมประชาธิปไตย ความเห็นต่าง ๆ ต้องมีการรับฟังทั้งหมด
นายภูมิธรรม กล่าวว่า สิ่งที่ฝ่ายต่อต้านบอกว่ามันทำให้ผืนป่าผืนใหญ่สูญเสียหาย ขณะที่ประชาชนก็เป็นห่วงชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งเป็นประชาชนทั้ง 5 จังหวัด มีวิธีการอื่นจะสามารถช่วยอะไรพวกเขาได้หรือไม่ ไม่ใช่เพียงบอกแค่ว่าผืนป่ายังดีอยู่ต้องรักษาไว้ ทั้งนี้การที่จะมีการทำเป็นเขื่อน ก็ได้มีการรับฟังประชาชน ได้มีการบอกว่าป่าไม้ก็มีการปลูกได้ ในพื้นที่อื่น ๆ ก็ยังปลูกได้ ไม่ได้คิดว่าอยากจะทำลายป่าไม้แต่ชีวิตพวกเขาก็ได้รับผลกระทบมาก และตนคิดว่าการดูแลรักษาเรื่องการแก้ไข เยียวยาเรื่องดังกล่าวนั้นใช้เงินเยอะมาก และไม่ได้สามารถแก้ได้อย่างทันที ทั้งนี้ ก็ได้เรียนไปว่าเรื่องการจัดการน้ำควรเป็นวาระแห่งชาติ ควรคิดทุกเรื่องทั้งกระบวนการและดูว่าจะมีทางออกทางไหน ที่ดีขึ้นเพราะฉะนั้นเรื่องของแก่งเสือเต้นต้องมีการนำมาพูดคุยกันใหม่แล้ว แต่ยังไม่ได้หมายความจะนำเรื่องเข้าอาจจะต้องมีกระบวนการอย่างไรหลายอย่างที่หาข้อสรุปเรื่องนี้ คงต้องรอไปอีกสักพัก
ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องของการเยียวยาชาวบ้านในพื้นที่รับน้ำ ได้มีการบอกว่าก็มีการท่วมเป็นปกติทุกที แต่ก็เขารู้สึกว่าทำไมถึงปกป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจ และพวกเขาที่ได้รับผลกระทบจากน้ำได้รับความเดือดร้อนรวมถึงเงินเยียวยานั้นไม่สมน้ำสมเนื้อกับสิ่งที่เขาเสียสละไป ในเมื่อจะต้องรับน้ำทุกปีจะมีมาตรการเยียวยาเพิ่มอะไรมากกว่านี้ได้หรือไม่
นายภูมิธรรม กล่าวว่า ถ้าถามคำถามนี้ก็จะต้องกลับไปตอบในคำถามเดิมว่า ว่ามันไม่มีความสมบูรณ์ในการทำ ในการจัดการเรื่องระบบน้ำทั้งระบบควรให้เป็นวาระแห่งชาติ ส่วนมาตรการเยียวยาแบบไหนอย่างไรนั้น ตนเองคิดว่าโดยมาตรฐานตอนนี้มีการกำหนดอยู่แล้วว่าจะต้องมีการจัดการอย่างไร ทุกครั้งที่มีน้ำท่วมมาเรามีการรักษาพื้นที่เศรษฐกิจเป็นอันดับแรกก่อน เพราะคิดว่าว่าเป็นการสูญเสีย แต่ทั้งนี้ก็ต้องคุยทั้งระบบและให้เป็นวาระแห่งชาติ