กยศ. ชี้แจงกรณี "สาว อบต." โดนฟ้องยึดทรัพย์ หลังถูกหักเงินเดือนมาตลอด 5 ปี
24 ก.ย. 2567, 09:53
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ชี้แจงกรณีข่าวผู้กู้ยืมรายหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์ ถูกหมายศาลสั่งบังคับคดียึดทรัพย์เพื่อชำระหนี้ กยศ. พบว่าผู้กู้ถูกดำเนินคดีปี 2557 และตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความผ่อนชำระเป็นรายเดือน แต่เมื่อครบสัญญาแล้วยังชำระหนี้ไม่ครบ ได้มีการแจ้งผู้กู้ให้มาปรับโครงสร้างหนี้แล้วแต่ผู้กู้ไม่มีการติดต่อกลับ จึงมีหมายสวมสิทธิเพื่อเตรียมบังคับคดีก่อนหมดอายุความบังคับคดี ขอเพียงผู้กู้มาติดต่อปรับโครงสร้างหนี้ จะขยายเวลาผ่อนชำระได้อีก 15 ปี ลดเบี้ยปรับ 100% ปลดภาระผู้ค้ำประกัน ยืนยันหากมาปรับโครงสร้างหนี้จะไม่ถูกบังคับคดีแน่นอน
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า “จากกรณีที่สื่อมวลชนได้รับการร้องเรียนจากผู้กู้ยืมรายหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์ ทำงานที่องค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่ง ถูกหมายศาลสั่งบังคับคดียึดทรัพย์เพื่อชำระหนี้ กยศ. ทั้งที่ถูกหักเงินเดือน ๆ ละ 1,200 บาท ระหว่างปี 2562 - 2566 คิดเป็นเงิน 61,200 บาท กองทุนฯ ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า ผู้กู้ยืมรายดังกล่าวถูกดำเนินคดีตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเคยตกลงทำตามสัญญาประนีประนอมยอมความในการผ่อนชำระ 108 งวด เริ่มชำระตั้งแต่งวด 5 สิงหาคม 2557 - 5 กรกฎาคม 2566 ต่อมากองทุนฯได้มีหนังสือแจ้งหักเงินเดือนผู้กู้ยืมตามจำนวนที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตามเนื่องจากจะครบอายุความบังคับคดี กองทุนฯ จึงหยุดการหักเงินเดือนและได้แจ้งให้ผู้กู้มาติดต่อปรับโครงสร้างหนี้แต่ผู้กู้ไม่ได้ติดต่อกลับมา กองทุนจึงจำเป็นต้องดำเนินการเตรียมบังคับคดีเพื่อมิให้ขาดอายุความ ทั้งนี้ หนังสือที่ผู้กู้ยืมได้รับดังกล่าวเป็นหมายสวมสิทธิเท่านั้น กองทุนฯยังไม่ได้มีการยึดทรัพย์แต่อย่างใด
ที่ผ่านมา กองทุนฯ ได้ดำเนินการคำนวณหนี้ใหม่ (Recalculation) ให้แก่ผู้กู้รายนี้แล้ว จากเดิมผู้กู้ยืมรายดังกล่าวมีภาระหนี้คงเหลือประมาณ 120,000 บาท และเมื่อคำนวณหนี้ใหม่แล้วมียอดหนี้คงเหลือ ประมาณ 60,000 บาทเศษ โดยผู้กู้สามารถตรวจสอบภาระหนี้ได้ที่เว็บไซต์ www.studentloan.or.th อีกทั้งผู้กู้ยืมรายดังกล่าว ยังมีสิทธิเข้าทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อขยายระยะเวลาผ่อนชำระเงินคืนกองทุนฯ เป็นรายเดือนออกไปอีก 15 ปี เมื่อชำระหนี้งวดสุดท้ายเสร็จสิ้นกองทุนฯ จะให้ส่วนลดเบี้ยปรับเดิมที่ตั้งพักไว้ทั้งหมด 100% และปลดภาระผู้ค้ำประกันทันทีหลังจากทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ หากผู้กู้ยืมรายนี้ประสงค์จะปรับโครงสร้างหนี้ กองทุนฯ จะใช้ยอดหนี้ที่ได้คำนวณใหม่นี้ในการทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้
ทั้งนี้ หากผู้กู้ยืมรายใดที่อยู่ระหว่างกระบวนการดำเนินคดี/บังคับคดี ขอให้มาติดต่อปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้กู้สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ ซึ่งเงินที่ผู้กู้ยืมชำระหนี้คืนกองทุนฯ จะเป็นทุนหมุนเวียนเพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษา รุ่นน้องต่อไป” ผู้จัดการกองทุนฯกล่าวในที่สุด