หมู่บ้านเก่าแก่กว่า 150 ปี สืบสานเทศกาลกินเจรวมองค์เทพยกเสาโกเต็ง หรือเสาตะเกียง 9 ดวง
3 ต.ค. 2567, 07:32
เมื่อเวลา 16.00 น.วันที่ 2 ต.ค.67 ที่ศาลเจ้ากวนอูบ้านท้องตมใหญ่ หมู่ 1 ตำบลด่านสวี อ.สวี จ.ชุมพร นายโอภาส คมสุวรรณวงศ์ ประธานการกิจเจ พร้อมด้วยร่างทรงทั้งหญิงชายกว่า 20 คนและประชาชนผู้ร่วมเทศกาลถือศีลกินเจประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 2-12 ตุลาคม ซึ่งเป็นประเพณีของชาวไทยเชื้อสายจีนโดยละเว้นกินเนื้อสัตว์หันมากินอาหารที่ปรุงด้วยพืชผักแทน เพื่อสุขภาพที่ดีต่อร่างกายและความเชื่อว่าการไม่กินเนื้อสัตว์เป็นการละเว้นการทำบาป
โดยในวันเวลาดังกล่าวทางคณะลูกศิษย์ขององค์เทพเจ้าทั้ง 9 ทำพิธีอันเชิญองค์เทพเพื่อลงมาจากสรวงสรรค์ประทับร่างทรง ประกอบด้วย 1.หงอเฮี้ยนไต่เต 2.เฮี่ยนเที้ยนส่งเต่ 3.กวนเป้งไท้จื่อ 4.หลี่ฮู้อ๋องเอี้ย 5.พระโพธิสัตว์กวนอิม 6.เซียนจ่ายตงจื่อ 7.หยกลื้อ 8.กวนอู 9.หลี่กวนกง ทำพิธียกเสาโกเต็งหรือเสาตะเกียงซึ่งทำจากไม้ไผ่ทั้งต้นแขวนตะเกียง 9 ดวงไว้ที่ปลายเสา ให้เป็นสัญญาลักษณ์แห่งดวงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ สถิตไว้ตลอดเทศกาลกินเจ
ซึ่งการที่องค์เทพเจ้าทั้ง 9 ลงประทับทรงนั้นก็ยังเป็นช่วงเวลาที่สร้างความระทึกมีลักษณะท่วงท่าที่แข็งแกร่ง น่าแกรงขาม และเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไปแต่ละองค์เทพ และการแต่งองค์ทรงเครื่องแต่ละชุดดูสวยงานตระกาลตา
สำหรับหมู่บ้านท้องตมใหญ่ หมู่ 1 ตำบลด่านสวี อ.สวี จ.ชุมพร เป็นหมู่บ้านของชาวไทยเชื้อสายจีนที่อดีตเมื่อกว่า 150 ปีก่อนได้มีชาวจีนแผ่นดินใหญ่ชายหญิงหอบลูกเล็กเด็กแดงอพยพมาจากเกาะไหลหลำด้วยเรือสำเภา ระหว่างที่เล่นเรือผ่านมาอ่านท้องตมใหญ่ได้เกิดพายุพัดโหมเกิดคลื่นลมแรง ทำให้ล่องไปต่อไม่ได้จึงขึ้นฝั่งหลบลมที่บริเวณที่เป็นที่ตั้งอยู่ในปัจจุบัน หลังจากคลื่นลมสงบจึงเห็นพ้องต้องกันว่าพื้นที่ดังกล่าวน่าอยู่อาศัยทั้งหมดจึงตัดสินใจตั้งหลักปักฐานยึดเป็นที่อยู่อาศัยและทำอาชีพประมงหาเลี้ยงครอบครัวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
หมู่บ้านท้องตมใหญ่ เดิมชื่อว่าทองตุ่มใหญ่ เชื่อกันว่าก่อนจะมีชื่อหมู่บ้านนั้น คนในหมู่บ้านได้ไปเจอทองอยู่ในตุ่มใบใหญ่ เลยตั้งชื่อหมู่บ้านว่าหมู่บ้าน “ทองตุ่มใหญ่” นานไปจึงเรียกออกเสียงเพี้ยนว่า “ท้องตมใหญ่” จนถึงปัจจุบัน การสืบสานประเพณีถือศีลกินเจก็สืบทอดจากรุ่นสู่รุนจนถึงปัจจุบัน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นลูกหลานเด็กรุ่นใหญ่เกือบทั้งสิ้น