สืบสานงานบุญขนมจีน ประเพณีโขลกแป้ง ขนมจีนร่วมงานบุญใหญ่ที่สืบสานมานานกว่า 80 ปี
6 ต.ค. 2567, 10:30
วันที่ 4 ต.ค. 67 ที่บริเวณวัดสว่างอารมณ์ ตำบลสามง่าม อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง นาย อนุชา เรืองอมรวิวัฒน์ นายอำเภอโพธิ์ทอง ขอเชิญพี่น้องชาวจังหวัดอ่างทอง และในพื้นที่ใกล้เคียงมาแต่งกายย้อนยุค ร่วมงานบุญใหญ่ โขลกแป้งขนมจีน ที่กำหนดจัดงานในวันที่ 11 – 13 ตุลาคม 2567 ณ วัดสว่างอารมณ์ ตำบลสามง่าม ในงานรับประทานขนมจีนฟรี ชมการแข่งขันโขลกแป้งขนมจีนชิงเงินรางวัล การประกอบอาหารจากเส้นขนมจีน โดยเชฟที่มีชื่อเสียง ไหว้พระขอพร การแสดงรำวงย้อนยุค และพบกับสินค้าโอทอปภายในงาน
งานประเพณีงานบุญโขลกแป้งขนมจีน เป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งของประชาชน หมู่บ้านสามง่าม ซึ่งจัดในวันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ณ วัดสว่างอารมณ์ เพื่อเป็นการสืบทอดประเพณีที่ดีงามให้คงอยู่คู่ชุมชนตลอดไป และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยมีหลวงพ่อพุฒ จันทโชโต อดีตเจ้าอาวาส วัดสว่างอารมณ์ เป็นผู้ได้คิดริเริ่มประเพณีงานบุญขนมจีน เนื่องจากได้มีเรือที่บรรทุกข้าวสารอาหารแห้งได้ล่มลงกลางแม่น้ำน้อยหน้าวัดสว่างอารมณ์ ซึ่งตรงกับวันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 11 หลวงพ่อพุด กลัวว่าข้าวสารที่จมน้ำไปจะเสียโดยเปล่าประโยชน์ จึงให้ชาวบ้านช่วยกันนำข้าวสารมาหมักเป็นแป้ง ทำขนมจีนถวายเป็นภัตตาหารแด่พระสงฆ์ และแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้านสืบทอดกันมากว่า 80 ปี
ก่อนถึงวันงาน 1 เดือน พระภิกษุสามเณร ไวยาวัจกรและประชาชนในพื้นที่ จะออกเรี่ยไรวัตถุดิบที่จะนามาปรุงเป็นขนมจีน น้ำพริก น้ำยา เช่น ข้าวสาร พริก น้าปลา เกลือ หอม กระเทียม เป็นต้น ตามพื้นที่ต่าง ๆ ในจังหวัดอ่างทอง โดยจะไม่ได้กะเกณฑ์ แล้วแต่จิตศรัทธาของผู้ใจบุญแล้วนามารวบรวมไว้ที่วัดสว่างอารมณ์ ก่อนถึงวันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 11 ชาวบ้านจะมาช่วยกันแช่แป้งขนมจีน จัดเตรียมสถานที่ลานวัด จัดเตรียมอุปกรณ์ในการทาขนมจีน เช่น ครก สากไม้ไผ่ ฟืน ซึ่งจะมีการตัดไม้ไผ่มาทาสากใหม่ทุกปี และผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาดูแลแป้งที่แช่ไว้
งานบุญประจำปี สืบต่อมาเป็นเวลานานกว่า 80 ปี และประชาชนเชื่อกันว่าในแต่ละปี หากได้กินขนมจีนที่ทำขึ้นที่วัดสว่างอารมณ์ อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง แล้วไหว้พระพุทธรูปปรางค์ปฐมพยาบาล ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ แล้วจะโชคดี ครอบครัวมีความสุขและคนที่เจ็บป่วย ก็จะหายจากโรคต่าง ๆ มีสุขภาพแข็งแรงขึ้น โดยจะนำกล่องปฐมพยาบาลมาถวายให้กับองค์พระพุทธรูปเป็นการแก้บน ซึ่งประเพณีดังกล่าวจะแสดงถึงความรัก สามัคคีของประชาชนในชุมชน