โฆษก ศปช. เผยสถานการณ์ฟื้นฟูอุทกภัยเชียงราย เชียงใหม่คืบหน้า ทุกหน่วยงานเร่งให้ความช่วยเหลือ
11 ต.ค. 2567, 12:24
วันนี้ (11 ตุลาคม 2567) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. และ ศปช. ส่วนหน้า จังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า วันนี้ (11 ต.ค.67) เวลา 10.00 - 12.00 น. เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท จะทยอยปรับลดการระบายน้ำจาก 2,047 ลบ.ม./วินาที เหลืออัตรา 2,005 ลบ.ม./วินาที และจะทยอยปรับลดลงเหลือ 2,000 ลบ.ม./วินาที ภายในเที่ยงวันนี้ นอกจากนั้น สถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา สถานี C2 อ.เมืองนครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,310 ลบ.ม./วินาที แนวโน้ม : ลดลง ระดับน้ำ : ต่ำกว่าตลิ่งอยู่ 2.11 ม. สถานี C13 เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,047 ลบ.ม/วินาที แนวโน้ม : ลดลง มีระดับน้ำท้ายเขื่อนต่ำกว่าตลิ่งอยู่ 1.69 ม. ส่วนระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ บริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง , คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา แม่น้ำน้อยบริเวณ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา วัดสิงห์ อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี อ.เมือง จ.สิงห์บุรี อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี วัดไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง มีระดับน้ำลดลง และสถานี C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 1,629 ลบ.ม./วินาที มีแนวโน้มลดลง
นอกจากนี้ กรมชลประทานเตรียมความพร้อมรับมือพื้นที่เสี่ยงและเฝ้าระวังเขื่อนขนาดใหม่ที่เกิน Upper Rule Curve ซึ่งปัจจุบันมีอ่างเกิน Upper Rule Curve รวม 6 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ เขื่อนแม่มอก เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนนฤบดินทรจินดา โดยกรมชลประทานได้จัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่เกินความจุอ่าง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านท้ายเขื่อนไว้แล้ว
นายจิรายุ กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยพื้นที่ อ.แม่สาย จากข้อมูลเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 67 พบความคืบหน้า ดังนี้ 1) หัวฝาย-สายลมจอย คืบหน้าร้อยละ 95 2) เกาะทราย คืบหน้าร้อยละ 52 3) ไม้ลุงขน คืบหน้าร้อยละ 53 4) เหมืองแดง คืบหน้าร้อยละ 91 และ 5) ปิยะพร คืบหน้าร้อยละ 100 ทั้งนี้จะมีการโอนถ่ายเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่เสร็จเรียบร้อยแล้วไปช่วยเหลือฟื้นที่อื่น ๆ เพื่อให้การฟื้นฟูเสร็จได้เร็วขึ้น
ส่วนโรงงานในพื้นที่จังหวัดเชียงรายที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกมาตรการเยียวยาผลกระทบ โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีโรงงานที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติน้ำท่วมนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2567 (เฉพาะโรงงานจำพวกที่ 2 และจำพวกที่ 3) ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถแจ้งข้อมูลตั้งแต่บัดนี้ - 31 ต.ค. 2567
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดเชียงใหม่ นายจิรายุ เปิดเผยว่า เริ่มคลี่คลายแล้วแต่ยังเหลือน้ำท่วมขังในพื้นที่ ตำบลหนองแฝก อำเภอสารภี เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่อยู่ท้ายน้ำ ซึ่งขณะนี้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งการสูบน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็ว ส่วนที่จังหวัดลำพูน ขณะนี้กองทัพเรือได้นำเรือผลักดันน้ำ 20 ลำเข้าไปช่วยในพื้นที่ โดยเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2567 เรือผลักดันน้ำ 10 ลำแรกถูกติดตั้งบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำปิง สะพานเฉลิมพระเกียรติ 2540 จุดเชื่อมต่อระหว่าง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน และ อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ และวันนี้จะติดตั้งเพิ่มอีก 10 ลำ ณ สะพานศรีบุญยืน อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน พร้อมเดินเครื่องผลักดันน้ำกวงที่คงค้างในพื้นที่ตำบลเหมืองง่า ในส่วนของการประปาส่วนภูมิภาค สาขาเชียงใหม่ (ชั้นพิเศษ) ได้ทำการฟื้นฟูน้ำประปา ปัจจุบันดำเนินการผลิตน้ำได้ตามปกติ และทำการส่งจ่ายน้ำให้กับประชาชนได้ตามปกติแล้ว 100% นอกจากนี้ ยังได้จัดรถบรรทุกน้ำของ กปภ. จำนวน 3 คัน ออกบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน และสนับสนุนการจ่ายน้ำแก่หน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้มีการประสานขอความช่วยเหลือ