รองปลัด สธ. เผย การส่งทีมแพทย์ช่วยผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว "เมียนมา" เน้นความปลอดภัยสูงสุด ตามความสมัครใจ ปฏิบัติงานทีมละ 1 สัปดาห์
4 เม.ย. 2568, 17:20

วันนี้ (4 เมษายน 2568) นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ตามที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายให้เตรียมการส่งทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะภัยพิบัติ (Emergency Medical Team : EMT) ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว ที่เมืองเนปิดอร์และมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา หลังได้รับการประสานจากกระทรวงการต่างประเทศว่าเมียนมาแจ้งขอรับการสนับสนุนนั้น ล่าสุด ได้มอบหมายให้ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ หัวหน้ากลุ่มฉุกเฉินทางการแพทย์ กรมการแพทย์ ร่วมเดินทางไปพร้อมกับคณะของ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่มีกำหนดการเดินทางเยือนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ในวันที่ 5 เมษายน 2568 เพื่อประเมินสถานการณ์ของพื้นที่ เบื้องต้นทราบว่า ทางกองทัพไทยได้ส่งทีมลงพื้นที่ล่วงหน้าแล้ว
นพ.พงศธรกล่าวต่อว่า ในส่วนของการส่งทีม Thailand EMT จะดำเนินการหลังจากสถานการณ์มีความปลอดภัยสูงสุด โดยให้เป็นไปตามความสมัครใจของบุคลากร ทั้งนี้ ต้องเป็นบุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรม ทั้งทฤษฎีและภาคสนามตามหลักสูตร MERT ของกรมการแพทย์มาอย่างดี และสามารถไปปฏิบัติงานในพื้นที่ดังกล่าวได้ โดยสัปดาห์ที่ 1 จะจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ประเมินสถานการณ์เบื้องต้น และดูแลการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ โดยทีมกรมการแพทย์ และสัปดาห์ที่ 2 - 4 จะดูแลการเจ็บป่วย ผู้ได้รับบาดเจ็บ และการควบคุมโรค โดยทีมแพทย์และสาธารณสุขจากเขตสุขภาพ โดยผู้ไปปฏิบัติงานจะได้รับเบี้ยเลี้ยงในอัตราการเดินทาง ไปต่างประเทศตามระเบียบที่กำหนดและตามตำแหน่งหน้าที่และค่าครองชีพในพื้นที่ที่ปฏิบัติงาน
“ประเทศไทยมีทีม EMT ผสมทั้งรัฐและเอกชนที่ผานการรับรองมาตรฐานจากองค์การอนามัยโลกซึ่งที่ผ่านมาได้ส่งเข้าร่วมภารกิจลักษณะนี้ในหลายประเทศ เช่น เนปาล เมียนมา ลาว เป็นต้น ล่าสุด คือ กรณีดินโคลนถล่มที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย สำหรับภารกิจครั้งนี้จำเป็นต้องใช้หลายทีมตามการร้องขอของรัฐบาลเมียนมา เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานของเมียนมาเสียหายอย่างมาก โดยจะปฏิบัติงานในพื้นที่ร่วมกับบุคลากรของเมียนมา เบื้องต้น กระทรวงสาธารณสุขได้ประสานโรงแรมระดับ 4 ดาว เป็นที่พักสำหรับทีม Thailand EMT ที่ไปปฏิบัติงาน และประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ/ทหารในพื้นที่ดูแลความปลอดภัย” นพ.พงศธรกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีการมอบหมายภารกิจให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมอนามัย ดูแลด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ประเมินความเสียหายของหน่วยงานโดยร่วมทีมปฏิบัติงานตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 เป็นต้นไป กรมการแพทย์ พัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข กองยุทธศาสตร์และแผนงาน ดำเนินการด้านงบประมาณในการสนับสนุนทีมบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข กองการต่างประเทศ ประสานงานกับกองทัพไทยในการดูแลความปลอดภัย รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานและเครือข่ายภายนอกกระทรวงสาธารณสุข และกองสาธารณสุขฉุกเฉิน เตรียมความพร้อมระบบสนับสนุน เช่น พาสปอร์ต ประกัน พิธีการศุลกากร การนำยาออกนอกประเทศ เป็นต้น รวมถึงข้อมูลของทีม EMT เพื่ออนุมัติ การปฏิบัติงานตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง