“ซาบีดา” หารือร่วมรองเลขาธิการ UN-Habitat ขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน
22 เม.ย. 2568, 13:59

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 68 เวลา 15.00 น. น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย ให้การต้อนรับ น.ส.อานาคลาวเดีย รอสบัค (Ms. Anacláudia Rossbach) รองเลขาธิการ UN และผู้อำนวยการบริหารของ UN-Habitat และคณะ ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะและร่วมหารือในประเด็นการขับเคลื่อนการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของกระทรวงมหาดไทย ณ ห้องดำรงราชานุภาพ ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยมี นายปารเมศ โพธารากุล ผู้ช่วยเลขานุการรมว.มหาดไทย ว่าที่ ร.อ. ธีรพงศ์ ครุธดิลกานันท์ น.ส.จริยาพร จิตต์ใจมั่น รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง น.ส.อรอุมา วรแสน ผอ.กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมหารือ
น.ส.ซาบีดา กล่าวย้ำความมุ่งมั่นของกระทรวงมหาดไทย ที่ดำเนินนโยบายและแผนงานอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสนับสนุนเป้าหมาย SDGs ผ่านการวางผังเมืองในระดับจังหวัดและระดับภาคอย่างบูรณาการ เน้นการพัฒนาเมือง การวางโครงสร้างพื้นฐาน การจัดบริการสาธารณะ และการจัดสรรการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการเติบโตของเมืองในอนาคต ด้วยกระบวนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำผังเมือง อย่างโปร่งใส สอดคล้องความต้องการของชุมชน และสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเมืองกับความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม มองปัญหาและโอกาสของเมืองอย่างสมดุล
“นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย มีนโยบายที่ชัดเจนในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน อาทิ การจัดหาน้ำดื่มสะอาดและบริการพื้นฐานที่เข้าถึงได้ฟรี รวมถึงการบูรณาการเทคโนโลยีอัจฉริยะ (Smart Technology) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบตรวจจับน้ำรั่ว การจัดการขยะ และการบริหารจัดการน้ำ ที่สอดรับกับวิถีชีวิตในยุคปัจจุบัน ป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งการหารือร่วมกันในครั้งนี้จะเป็นกุญแจสำคัญในการเร่งรัดความก้าวหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน" น.ส.ซาบีดา กล่าว
ด้าน น.ส.อานาคลาวเดีย รอสบัค กล่าวชื่นชมจุดแข็งของประเทศไทย ที่มีโมเดลการพัฒนาชุมชนโดยขับเคลื่อนจากฐานรากที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ กระทั่งประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะในลาตินอเมริกา ได้ใช้โมเดลของไทยเป็นต้นแบบการพัฒนา นอกจากนี้ ยังชื่นชมและเสนอแนะแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยใช้เทคโนโลยีควบคู่ในลักษณะ “เมืองอัจฉริยะที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง” โดยโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ระบบประปาและระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาเมือง และขอเชิญกระทรวงมหาดไทยร่วมนำเสนอแนวปฏิบัติการวางแผนเมืองแบบบูรณาการและมีส่วนร่วม ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) บนเวทีระดับโลก (World Urban Forum) ครั้งที่ 13 (WUF 13) ที่จะมีขึ้นในปี พ.ศ. 2569 อีกด้วย