สินค้าเกษตรไทยขยายตัวทุกสาขา! จีดีพีไตรมาส 1 เติบโต 3% คาด ทั้งปี 2568 ขยายตัว 1.8 - 2.8% รัฐบาลเดินหน้ามาตรการเชิงรุก
26 เม.ย. 2568, 11:00

วันนี้ (26 เม.ย. 68) เวลา 08.45 น. นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 1 ปี 2568 (มกราคม - มีนาคม 2568) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเข้าสู่สภาวะลานีญา ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2567 ทำให้มีฝนตกต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำตามธรรมชาติเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา และสภาพอากาศโดยทั่วไปเหมาะสม หนุนการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์ เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงมีการบริหารจัดการฟาร์มและดูแลเฝ้าระวังโรคในสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ทุกสาขาการผลิตขยายตัว ดังนี้
สาขาพืช ขยายตัวร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญและแหล่งน้ำตามธรรมชาติเพิ่มขึ้น และสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกพืช ส่งผลให้พืชเจริญเติบโตได้ดีและให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น สินค้าพืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น อาทิ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน ยางพารา ลำไย
สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 0.1 โดยสินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่เนื้อ เนื่องจากมีการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไข่ไก่ เนื่องจากสภาพอากาศเย็นและไม่ร้อนจัด ทำให้แม่ไก่ไข่มีการออกไข่ได้ดี น้ำนมดิบ เนื่องจากเกษตรกรมีศักยภาพในการเลี้ยงโคนมมากขึ้น มีการจัดการฟาร์มที่มีประสิทธิภาพ สามารถลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น
สาขาประมง ขยายตัวร้อยละ 0.4 โดยมีการผลิตกุ้งขาวแวนนาไมที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก เนื่องจากเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี ทำให้กุ้งมีอัตราการรอดสูง ประกอบกับราคาที่เกษตรกรขายได้มีแนวโน้มสูงขึ้น จูงใจให้เกษตรกรปรับเพิ่มปริมาณการปล่อยลูกกุ้ง
สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 3.7 เนื่องจากการเข้าสู่สภาวะลานีญาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณน้ำฝนมากขึ้น ส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของพืช และสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ทำให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูกพืชในพื้นที่ที่เคยปล่อยว่าง ส่งผลให้กิจกรรมการจ้างบริการเตรียมดินและเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชที่สำคัญในภาพรวมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวนาปี ข้าวนาปรัง และอ้อยโรงงาน
สาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 1.2 เนื่องจากผลผลิตไม้ยูคาลิปตัส ถ่านไม้ และรังนก เพิ่มขึ้น โดยไม้ยูคาลิปตัสเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งญี่ปุ่นที่มีความต้องการใช้เพื่อแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล ถ่านไม้เพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของการส่งออกไปยังจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมถึงความต้องการใช้ภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น และรังนกเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการของอุตสาหกรรมแปรรูปรังนกทั้งภายในและภายนอกประเทศ
ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรไทยปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.8 - 2.8% เมื่อเทียบกับปี 2567 โดยมีปัจจัยบวกจากปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2567 ทำให้แหล่งน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก และสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์ รวมถึงการดำเนินนโยบายพัฒนาภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ความแปรปรวนของสภาพอากาศ ราคาปัจจัยการผลิตที่ยังสูง เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว มาตรการกีดกันทางการค้า และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งอาจกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลกและการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย
“รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งเสริมความเข้มแข็งให้ภาคเกษตรไทย เพื่อรับมือกับความท้าทายที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยกำหนดแนวทางดำเนินงานทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาว อาทิ การเตรียมความพร้อมรับมือภัยธรรมชาติและโรคพืช การลดต้นทุนการผลิตและปราบปรามสินค้าผิดกฎหมาย การจัดสรรที่ดินทำกินให้เกษตรกร การพัฒนาระบบประกันภัยภาคการเกษตร การส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรและส่งเสริมเกษตรมูลค่าสูง การเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและการตลาด รวมถึงการขับเคลื่อน Soft Power จากภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย” นายอนุกูล กล่าว