เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สัปดาห์นี้รับมืออากาศร้อนจัด แนะกลุ่มเสี่ยง - ผู้ใช้แรงงาน เลี่ยงการทำงานกลางแจ้งต่อเนื่อง พักผ่อนและดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ


26 เม.ย. 2568, 11:45



สัปดาห์นี้รับมืออากาศร้อนจัด แนะกลุ่มเสี่ยง - ผู้ใช้แรงงาน เลี่ยงการทำงานกลางแจ้งต่อเนื่อง พักผ่อนและดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ




วันนี้ (26 เม.ย. 68) เวลา 08.30 น. นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลห่วงสุขภาพประชาชนในช่วงฤดูร้อน ซึ่งในหลาย ๆ พื้นที่ของประเทศไทยโดยสัปดาห์นี้จะมีอากาศร้อนจัดปกคลุม ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงกลางวัน ระหว่างเดือนมีนาคม - พฤษภาคม  อาจทำให้ประชาชนเจ็บป่วยจากสภาวะอากาศร้อนจัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ต้องทำงานกลางแจ้ง อาทิ เกษตรกร คนงานก่อสร้าง และผู้ที่ทำงานใกล้แหล่งกำเนิดความร้อน เช่น ในโรงงานหลอม หรือโรงงานที่มีเครื่องจักรความร้อนสูงและมีพื้นที่ระบายอากาศไม่ดี เป็นกลุ่มที่น่ากังวลเป็นพิเศษ
 
นายคารม กล่าวว่า ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเผชิญสภาพอากาศที่ร้อนจัด ขอให้ประชาชนระมัดระวังโรคที่เกิดจากความร้อนเมื่อร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกได้ทันและอุณหภูมิภายนอกสูงกว่าร่างกาย กลไกการระบายความร้อนตามธรรมชาติ เช่น การหลั่งเหงื่อ การขยายตัวของหลอดเลือดที่ผิวหนัง การหายใจ และการพาความร้อนจะทำงานได้ไม่เต็มที่ อีกทั้ง เมื่อร่างกายร้อนจัดและเริ่มขาดน้ำ จะมีอาการอ่อนเพลีย หน้ามืดเป็นลม และหากเสียเกลือแร่ร่วมด้วยจะเกิดตะคริว ซึ่งหากไม่ได้รับการช่วยเหลือ อาจนำไปสู่อาการขาดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญ เกิดภาวะอวัยวะล้มเหลว หมดสติ และกลายเป็นโรคลมแดด (Heat Stroke) ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ต้องรีบช่วยเหลือ มิฉะนั้นอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
 
เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และป้องกันอันตรายจากความร้อน ขอแนะวิธีการปฏิบัติตน ดังนี้
1. ติดตามข่าวพยากรณ์อากาศค่าดัชนีความร้อน และพิจารณาเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือทำงานกลางแจ้งในช่วงที่อากาศร้อนจัด หากเลี่ยงไม่ได้ให้สลับกันทำงาน หรือพยายามทำงานกลางแจ้งให้เสร็จก่อน เวลา 13.00 น. ซึ่งจะเป็นช่วงอากาศที่ร้อนที่สุด
2. ดื่มน้ำสะอาดบ่อย ๆ ทุก 15 - 20 นาที แม้จะไม่รู้สึกกระหาย โดยสถานที่ประกอบการควรจัดหาน้ำดื่มให้เข้าถึงง่าย อย่างไรก็ตามควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม และงดการสูบบุหรี่
3. สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี พักผ่อนให้เพียงพอ
4. ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาแก้คัดจมูก ยาขับปัสสาวะ ยารักษาจิตเวช อาจส่งผลต่อการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ผู้ที่รับประทานยาดังกล่าวจึงควรหมั่นสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการผิดปกติ ให้รีบพบแพทย์ทันที
5. สำหรับผู้สูงอายุ ควรดื่มน้ำบ่อย ๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ อยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก เลี่ยงการอยู่กลางแจ้งในช่วงที่อากาศร้อนจัด และสังเกตอาการผิดปกติเป็นพิเศษ
6. ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง ควรอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เพื่อคอยสังเกตอาการซึ่งกันและกัน หากมีอาการผิดปกติ เช่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้ หน้ามืด ควรหยุดทำงานหรือกิจกรรม เข้าที่ร่มและแจ้งเพื่อนร่วมงาน
 
“หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการรุนแรง ให้รีบปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยนำผู้ป่วยเข้าที่ร่ม ถอดเสื้อผ้าออก ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว โดยเน้นบริเวณซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ และลำตัว เพื่อให้อุณหภูมิร่างกายลดลงโดยเร็ว และรีบนำส่งโรงพยาบาลหรือโทรติดต่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ 1669” นายคารม ระบุ 









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.