เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



นายกฯ แลกเปลี่ยนมุมมองผลักดัน 3 ประเด็น ในการประชุมสุดยอดอาเซียนเต็มคณะ


2 พ.ย. 2562, 19:59



นายกฯ แลกเปลี่ยนมุมมองผลักดัน 3 ประเด็น ในการประชุมสุดยอดอาเซียนเต็มคณะ




วันที่ 2 พฤศจิกายน  เวลา 17.00 น.ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ถนนป๊อปปูล่า 3 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนได้เข้าร่วม การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 แบบเต็มคณะ

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมแบบเต็มคณะ (Plenary) จัดขึ้นเพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือกับภายนอกของอาเซียน และการกำหนดทิศทางในอนาคต แลกเปลี่ยนทัศนะต่อประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในภูมิภาคและระหว่างประเทศ รวมถึงเพื่อขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนให้ เข้มแข็งยิ่งขึ้น ตามแนวคิดหลักของการเป็นประธาน อาเซียนของไทย “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” (Advancing Partnership for Sustainability) โดยมีประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ เลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมประชุม

นายกฯ กล่าวต้อนรับ และยินดีที่ได้พบทุกท่านอีกครั้ง ย้ำถึงแนวคิดหลักในการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ประเทศไทยประสงค์ใช้โอกาสนี้แลกเปลี่ยนมุมมอง วิสัยทัศน์ เพื่อร่วมกันกำหนดเป้าหมายและทิศทางอาเซียน โดยนายกฯ ได้นำผลการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 ไปหารือกับผู้นำ G20 ที่นครโอซากา และได้นำประเด็นความร่วมมือส่งเสริมความยั่งยืนในมิติต่างๆ ไปหาหรือต่อ ในช่วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก ทั้งหมดนี้เพื่อสนับสนุนประชาคมอาเซียน ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคต นายกฯ เชื่อว่าความเป็นหุ้นส่วนและการเป็นมิตรกับประเทศต่างๆ นอกภูมิภาคจะช่วยประชาคมอาเซียนให้ขับเคลื่อนแนวคิดหลักของอาเซียนเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน

นายกฯ ได้แลกเปลี่ยนมุมมองในสามประเด็นที่อาเซียนควรร่วมกันผลักดัน 1. การส่งเสริมความมั่นคงที่ยังยืน เพื่อรักษาและเพิ่มพูนสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค อาเซียนควรเน้นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในระดับยุทธศาสตร์ ควรขยายผลจากสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) ให้แพร่หลายออกไปในวงกว้าง 2. การเสริมสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ความตกลง RCEP คือหัวใจสำคัญจะช่วยรองรับผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างคู่ค้าที่สำคัญของอาเซียน เพิ่มประโยชน์ด้านการค้าและการลงทุนของอาเซียนและภูมิภาค 3. การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นประเด็นสำคัญทางยุทธศาสตร์ของอาเซียนและเป็นพื้นฐานสำคัญของการเติบโตในอนาคต อาเซียนมีผลการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมในหลายเรื่องที่เกี่ยวข้อง อาทิ การจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนเพื่อแก้ไขปัญหาการประมง IUU การแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ครอบคลุมทุกช่วงวัย

โดยประชาคมอาเซียนที่ยั่งยืนต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายอาเซียนต้องกระชับความร่วมมือกับหุ้นส่วนนอกภูมิภาคอย่างมียุทธศาสตร์เพื่อให้ความร่วมมือเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ และสมดุลเพื่อประโยชน์สูงสุด อาเซียนจึงควรเตรียมความพร้อมให้ดีสำหรับการประชุมกับประเทศคู่เจรจาที่เกี่ยวข้องที่กำลังจะเกิดขึ้น และการประชุมสุดยอดอาเซียนสาธารณรัฐเกาหลีสมัยพิเศษครั้งที่สามในปลายเดือนนี้

ในช่วงท้ายนายกฯ เสนอความเห็นว่า อาเซียนควรมีบทบาทให้ความช่วยเหลือเมียนมาในการแก้ปัญหาด้านมนุษยธรรมในรัฐยะไข่ผ่านเลขาธิการอาเซียนร่วมมือกับมิตรประเทศที่เมียนมามีความสะดวกใจเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นเฉพาะ ในโอกาสนี้ นายกฯได้ขอบคุณการสนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปีนี้ส่งผลให้อาเซียนได้ต่อยอด การดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ต่อประเทศสมาชิก และประชาชนในอาเซียน









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.