หลายภาคส่วน จ.บุรีรัมย์ ร่วมศึกษาตามรอยพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 (คลิป)
4 พ.ย. 2562, 13:50
ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ณ “อุทยานไม้ดอก เพ ลา เพลิน” อำเภอคูเมือง ทิพยประกันภัย ร่วมกับศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมูลนิธิธรรมดี นำคณะครูจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ เรียนรู้การเกษตรแบบยั่งยืนควบคู่การอนุรักษ์ธรรมชาติ ในกิจกรรม “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ท่องป่าไร่นาสวนผสมมหาชีวาลัยอีสาน สู่อุทยานการเรียนรู้” ณ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 9 เส้นทาง 81 แหล่งเรียนรู้มีชีวิตตามรอยพ่อ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการร่วมกันสานต่อพระราชปณิธาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา “ศาสตร์พระราชา”
นายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ ประธานกรรมการ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “การเดินทางตามรอยพ่อ ศึกษาคุณธรรมศาสตร์พระราชา ณ แห่งเรียนรู้มีชีวิต จังหวัดบุรีรัมย์ ในครั้งนี้ เป็นการตามรอยพระราชา เรียนรู้พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ณ มหาชีวาลัยอีสาน
นางวิชชุดา ไตรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทิพยประกันภัยมีความมุ่งมั่นในการสืบสานศาสตร์พระราชาผ่านการจัดกิจกรรม "ตามรอยพระราชา" อย่างต่อเนื่องในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ของ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนตลอด 70 ปี ที่ทรงครองราชย์ และสอดคล้องกับปณิธานของบริษัทฯ ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการส่งเสริมความเจริญอย่างยั่งยืนของสังคมไทยในทุกมิติ ที่สำคัญ ในเดือนตุลาคม ยังเป็นเดือนที่เราจะได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ของพระมหากษัตริย์ไทยอีก 2 พระองค์คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเดียวกันด้วย
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ไปเยี่ยมชมและทำกิจกรรมที่ “ศูนย์การเรียนรู้บ้านพ่อคำเดื่อง” อำเภอดงแคน อาณาจักรสีเขียวพื้นที่ 200 ไร่ ที่พ่อคำเดื่อง ภาษี ปราชญ์ชาวบ้าน ได้นำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตและทำเกษตรกรรมอย่างได้ผล โดยยึดแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจนสามารถปลดหนี้ได้ และประสบความสำเร็จในวิถีเกษตรกรรมแบบธรรมชาติ ไม่ใช้ยาปราบศัตรูพืชหรือสารเคมี
ปิดท้ายด้วยการเดินทางสู่ “อุทยานไม้ดอก เพ ลา เพลิน” อำเภอคูเมือง แหล่งพักผ่อนและเรียนรู้ทางธรรมชาติที่สมบูรณ์แบบแห่งเดียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา พระอรรคชายาเธอผู้มีหน้าที่ควบคุมดูแลห้องพระเครื่องต้น ของเสวยคาวหวาน อีกทั้งทรงเป็นผู้ก่อตั้งโรงเลี้ยงเด็กแห่งแรกในประเทศไทย ทั้งนี้คณะครูได้ทำกิจกรรมพับดอกบัวและถวายเป็นราชสักการะเบื้องหน้าพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยอีกด้วย
สำหรับกิจกรรมถอดบทเรียนนำ โดยนายอดุลย์ ดาราธรรม วิทยากรจิตอาสาจากสมาคมนักเรียนเก่าเอเอฟเอส (TRAFS) ผ่านเกมกระดานสื่อการเรียนรู้ 3 แบบ ได้แก่ “Game of Our Nation” ที่สอดแทรกคุณธรรม 4 ประการ คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา “The Medici Effect 9” ถอดบทเรียนและต่อยอดสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมจากกิจกรรมตามรอยพระราชา และ “The King's Journey Learn English an Example of an Invention” เรียนรู้ภาษาอังกฤษจากหนังสือชุด King Bhumibol Adulyadej of Thailand
ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวว่า ผู้ร่วมกิจกรรมตามรอยพระราชาทุกคนจะได้รับชุดหนังสือภาษาอังกฤษ “King Bhumibol Adulyadej of Thailand” จำนวน 3 เล่ม ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชจริยวัตร และพระอัจฉริยภาพของ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นำไปถ่ายทอดแก่นักเรียนผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ให้เยาวชนรุ่นหลังได้รู้จักพระองค์ท่านและสามารถสื่อสารให้ชาวต่างชาติฟังได้ว่า ทำไมคนไทยถึงรักในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั้งยังให้ข้อคิดในการใช้ชีวิตเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณธรรม
ทั้งนี้ องค์กรภาคีในการจัดโครงการเดินทางตามรอยพระราชา มีความปิติเป็นอย่างยิ่งที่คณะครูอาจารย์ทั่วประเทศไทย ให้การตอบรับเข้าร่วมตามรอยพ่ออย่างต่อเนื่องตลอด 6 ครั้งที่ได้จัดโครงการ เริ่มตั้งแต่ เดือนตุลาคม 2561 จวบจนปัจจุบัน และตั้งใจจะสานต่อโครงการนี้ต่อเนื่องในปีถัดไป เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสานต่อปณิธานตามรอยในหลวง รัชกาลที่ 9 อันเป็นความรู้ที่ไม่มีวันล้าสมัยสู่สังคมต่อไป