ผอ.สำนักงานชลประทานที่12 เผยสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยามีเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคในช่วงหน้าแล้ง ย้ำเกษตรกรงดทำนาต่อเนื่องเสี่ยงผลผลิตเสียหาย
7 พ.ย. 2562, 08:40
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำ ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่ง 3 เขื่อนหลัก ประกอบดัวย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณฝนตกเหนือเขื่อนแบะน้ำสะสมจากฤดูฝนมีน้อย ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวเพียงพอสำหรับการจัดสรรเพื่อการอุปโภค บริโภค ผลิตน้ำประปา การรักษาสภาพแวดล้อม และผลักดันน้ำเค็ม และขอความร่วมมือเกษตรกร งดทำนาอย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันปัญหาผลผลิตทางการเกษตรเสียหายเมื่อขาดน้ำ
นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 กล่าวว่า เบื้องต้นตั้งแต่ที่ 17 ตุลาคม 2562 เป็นต้นมา กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเข้าสู่ฤดูหนาว และเป็นสัญญาณของการเข้าสู่ฤดูแล้ง ซึ่งสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา จะมีน้ำต้นทุน จาก3 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล มีน้ำ 21 เปอร์เซ็นต์ ของความจุอ่าง หรือคิดเป็น 2,133 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำ 36.26 เปอร์เซ็นต์ ของความจุอ่าง หรือคิดเป็น 2,415 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีน้ำ 50 เปอร์เซ็นต์ ของความจุอ่าง หรือคิดเป็น 455 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าว จะต้องมีใช้ให้ถึง 7 เดือน เพื่อที่เมื่อประกาศเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง จะได้นำน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ส่งให้พื้นที่ทางการเกษตรในช่วงฤดูฝนหน้า
นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 ยังฝากเน้นย้ำให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา งดการทำนาออกไปก่อน ก่อนที่จะถึงฤดูฝนหน้า เพื่อป้องกันปัญหาผลผลิตทางการเกษตรเสยหายเนื่องจากขาดน้ำ และสำหรับเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 แห่ง ที่เป็นพื้นที่รับน้ำฝน ในช่วงฤดูน้ำหลาก ที่จะต้องเริ่มทำนาปี สำนักงานชลประทานที่12 จะหาแนวทางการใช้น้ำในการทำนา หรืออาจจะใช้วิธีทำนาแบบเปียกสลับแห้งแทนหากมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ