"อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ" ลงพื้นที่บ้านคลิตี้ เพื่อตรวจสอบกองตะกอนแร่ ที่ถูกลักลอบนำมาทิ้ง
11 พ.ย. 2562, 20:30
วันนี้ ( 11 พ.ย. 2562 ) ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ พร้อมด้วย นายสมชาย ทรงประกอบ รองอธิบดีฯ นายชยาวีร์ หวังเจริญรุ่ง ผอ.ส่วนน้ำเสียชุมชน เดินทางลงพื้นที่บ้านคลิตี้ หมู่ที่ 4 ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เพื่อตรวจสอบกองตะกอนแร่ที่ถูกบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) ลักลอบนำมาทิ้งไว้ เมื่อครั้งที่บริษัทดำเนินกิจการเหมืองแร่ในอดีตภายหลังจากได้รับข้อมูลจากคณะกรรมไตรภาคี ในส่วนของประชาชนในพื้นที่ ว่ามีการพบกองตะกอนหางแร่ ถูกทิ้งไว้ในป่า ใกล้เคียงพื้นที่ของโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ที่กรมควบคุมมลพิษ ได้ว่าจ้างบริษัทเอกชน (บริษัทเบตเตอร์เวอร์กรีน จำกัด BWG ) ซึ่งตามสัญญาจะสิ้นสุดในช่วงเดือนสิงหาคม 2563
ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า พื้นที่ที่มีกองตะกอนแร่ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ จากการตรวจวัดค่าโลหะหนัก (ตะกั่ว) โดยเครื่องมือการตรวจวัดโลหะหนักของกรมฯ โดยเจ้าหน้าที่ตรวจวัดกระจายในพื้นที่รอบๆ พบว่ามีค่าโลหะหนักสูงถึง 70,000-100,000 ม.ก ต่อ กก. ซึ่งเกินค่ามาตรฐานสากลที่กำหนดค่าไว้ไม่เกิน 400 ม.ก ต่อ กก.
นายกำธร ศรีสุวรรณ แกนนำชาวบ้านคลิตี้ (คณะกรรมการไตรภาคี) เล่าให้อธิบดีฟังว่า ในอดีตพื้นที่ดังกล่าวเป็นหุบเขาที่อยู่ใกล้เหมืองแร่ โดยในกระบวนการทำเหมืองจะมีกระบวนการแต่งแร่ในพื้นที่บ้านคลิตี้บน เมื่อสิ้นสุดกระบวนการ จะมีของเสียที่เป็นน้ำและตะกอนหางแร่ ตามข้อบังคับของการทำเหมือง บริษัทฯ จะต้องมีการสร้างบ่อบำบัดเพื่อดำเนินการฝังกลบ แต่ที่นี้เมื่อบ่อที่จัดสร้างขึ้นมามีการนำหางแร่มาทิ้งจนเต็มแล้ว ไม่ได้มีการสร้างเพิ่ม แต่ทางบริษัทฯกลับนำหางตะกอนหางแร่ตะกั่วซึ่งเป็นของเสียจากกระบวนการผลิต ลักลอบนำไปทิ้งในป่า รอบๆ พื้นที่เหมือง ด้วยการใส่รถบรรทุกไปทิ้ง จนเกิดเป็นกองขนาดภูเขาย่อมๆ
โดยเบื้องต้น นายประลอง ดำรงไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ ตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวอย่างละเอียด เพื่อคำนวณปริมาณตะกอนหางแร่ ในพื้นที่ว่ามีปริมาณเท่าไร และให้ร่วมกับชาวบ้าน ผู้นำชุมชน ตรวจสอบว่านอกจากพื้นที่นี้แล้วยังมีพื้นที่ไหนอีก ที่บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ ลักลอบนำตะกอนหางแร่ เพื่อรวบรวมข้อมูล นำเรียน รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาหาทางกำจัด ให้หมดไปจากพื้นที่เพื่อความปลอดภัยต่อชาวบ้านคลิตี้ เนื่องจากหากไม่มีการกำจัดในส่วนที่พบนี้ กระบวนการฟื้นฟูที่ผ่านมากว่า 2 ปี ก็จะสูญเปล่า เนื่องจากเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนน้ำก็จะชะล้างสารตะกั่วเหล่านี้ลงสู่ลำห้วยคลิตี้ อย่างแน่นอน