"อุทัยธานี" รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ร่วมเปิดโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกในจังหวัด
12 พ.ย. 2562, 15:44
วันที่ 12 พ.ย.62 นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุทัยธานี เขต 2 เป็นประธานในพิธีเปิดโรงพยาบาลพริ้นซ์ อุทัยธานี ร่วมกับ นายแพทย์พงษ์ศักดิ์วิทยากร ประธานกิตติมศักดิ์ ดร.สาธิต วิทยากรประธานคณะกรรมการ พร้อมคณะผู้บริหารพยาบาล โดยมี นายแพทย์สุนทร ศรีทา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวต้อนรับ และ นายแพทย์สืบพงษ์ อินทรลาวัณย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพริ้นซ์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งโรงพยาบาล พร้อมทั้งยังได้มอบเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า(AED)ให้กับ อำเภอเมืองอุทัยธานี และเงินสนับสนุนครุภัณฑ์ทางการแพทย์ให้กับ โรงพยาบาลอุทัยธานี และเงินสนับสนุนโรงเรียนและชุมชนต่างๆในจังหวัดอุทัยธานี โดยมี พลตำรวจตรีพันธุ์เทพ ถึงทรัพย์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุทัยธานี นายบุญธรรม ทองพิจิตร นายอำเภอเมืองอุทัยธานี นายอดุลย์ เหลืองบริบูรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุทัยธานี ตลอดจน ส่วนราชการ ภาครัฐ เอกชนและประชาชนร่วมงานจำนวนมาก
ทั้งนี้ โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุทัยธานี ยังเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งเดียวในจังหวัดอุทัยธานี เปิดให้บริการตรวจรักษาโรคต่างๆ ตลอดจนบริการตรวจสุขภาพ สามารถรองรับคนไข้ด้วยจำนวนเตียงทั้งสิ้น 59 เตียง ปัจจุบัน บริษัทพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด (ในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน)) มีโรงพยาบาลในเครือข่ายที่เปิดดำเนินการแล้ว 8 แห่งใน 7 จังหวัด ได้แก่ โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 1 และโรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 2 จังหวัดนครสวรรค์โรงพยาบาลพิษณุเวช จังหวัดพิษณุโลก โรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ โรงพยาบาลสหเวช จังหวัดพิจิตร โรงพยาบาลศิริเวชลำพูน จังหวัดลำพูน และโรงพยาบาลพริ้นซ์ อุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี และยังเป็นโรงพยาบาลเอกชนระดับตติยภูมิที่ได้รับการรับรองกระบวนการคุณภาพมาตรฐาน (HA) และมาตรฐานเทคโนโลยีสารสนเทศโรงพยาบาลขั้นที่ 7 (HIMSS Analytic EMRAM Stage 7) เป็นแห่งแรกในประเทศไทย ที่ผนวกกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและการนำเทคโนโลยีมายกระดับคุณภาพการให้บริการ
โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลในเครือข่ายเป็น 20 แห่งภายในปี 2566 ในการมุ่งเน้นไปในพื้นที่ต่างจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคโดยเฉพาะจังหวัดที่ มีการบริการด้านการแพทย์ยังเข้าไปไม่ทั่วถึง หรือมีโรงพยาบาลเป็นจำนวนน้อย เพื่อช่วยเหลือภาครัฐในการรองรับความต้องการด้านบริการทางการแพทย์ของประชาชนในพื้นที่ ส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีและรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ทันท่วงที โดยการเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลจะขยายในรูปแบบเครือข่าย เพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้โดยใช้ทรัพยากรร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรด้านการแพทย์ อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ รวมถึงการบริหารจัดการงานด้านต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ