ชมความงดงาม! กองทัพเรือฝึกซ้อมย่อย ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ครั้งที่ 11 (คลิป)
12 พ.ย. 2562, 19:27
วันนี้ ( 12 พ.ย.62 ) เวลา 15.30 น. กองทัพเรือ โดยคณะกรรมการจัดเตรียมความพร้อมขบวนเรือพระราชพิธี ได้จัดให้มีการฝึกซ้อมย่อยขบวนเรือพระราชพิธีในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 โดยการซ้อมในวันนี้เป็นการซ้อมย่อยครั้งที่ 11 มีกำลังพลประจำเรือเข้าร่วมฝึกซ้อมในทุกริ้วขบวน จำนวน 2,200 นาย ใช้เรือพระราชพิธีทั้งสิ้น 52 ลำ (รวมถึงเรือพระที่นั่ง 4 ลำ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์)
สำหรับขั้นตอนการปฏิบัติในวันนี้ ในเวลา 15.00 น. เรือพระราชพิธี ทั้ง 52 ลำ ได้เริ่มตั้งขบวนเรือโดยหัวขบวนของเรือพระราชพิธีอยู่บริเวณธนาคารแห่งประเทศไทยและท้ายขบวนอยู่บริเวณโรงแรมริเวอร์ไซด์ก่อนถึงสะพานกรุงธน. จากนั้นในเวลา 15.35 น. ขบวนเรือได้เคลื่อนออกจากจุดตั้งขบวนมุ่งหน้าไปทาง พระบรมมหาราชวัง ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเคลื่อนขบวนจากจุดเริ่มต้นถึงที่หมายประมาณ 40 นาที ซึ่งการซ้อมขบวนเรือพระราชพิธีในวันนี้ เป็นการจัดรูปขบวนตามรูปแบบโบราณราชประเพณีทุกประการ โดยจัดรูปขบวนเรือ แบ่งออกเป็น 5 ริ้ว 3 สาย ดังนี้
- ริ้วสายกลาง ซึ่งเป็นเรือสายสำคัญ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง 4 ลำ มีเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ นอกจากนี้มีเรืออีเหลือง เรือกลองนอก เรือแตงโม ซึ่งเป็นเรือของผู้บัญชาการขบวนเรือ เรือกลองใน พร้อมด้วยเรือตำรวจนอก และเรือตำรวจใน
- ริ้วสายใน ขนาบข้างสายเรือพระที่นั่ง มีเรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่น เป็นเรือประตูหน้าเรือเสือทยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์ เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ 8 ลำ และปิดท้ายสายในด้วยเรือเอกไชยเหินหาว และเรือเอกไชยหลาวทอง ซึ่งเป็นเรือคู่ชัก
- ริ้วสายนอก ประกอบด้วยเรือดั้ง และเรือแซง สายละ 14 ลำ รวมทั้งสิ้น 52 ลำ
ในส่วนของการซ้อมนั้นได้กำหนดแผนการซ้อมย่อยจำนวน 14 ครั้ง โดยในห้วงระยะเวลาต่อไป เป็นการซ้อมย่อยครั้งที่ 12 - 14 ดังนี้
การซ้อมย่อย ครั้งที่ 12 วันที่ 19 พฤศจิกายน 2562
การซ้อมย่อย ครั้งที่ 13 วันที่ 26 พฤศจิกายน 2562
การซ้อมย่อย ครั้งที่ 14 วันที่ 3 ธันวาคม 2562
สำหรับการซ้อมใหญ่กำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 9 ธันวาคม 2562 และงานพระราชพิธีกำหนด จัดขึ้นในวันที่ 12 ธันวาคม 2562
สำหรับเรือพระราชพิธีทั้ง 52 ลำ ที่จะเข้าร่วมในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ โดยลำปัจจุบันนี้เป็นเรือสร้างใหม่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่แล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำเมื่อ 13 พ.ย. พ.ศ.2454 โขนหัวเรือจำหลักเป็นรูปหงส์ลงรักปิดทองประดับกระจกมีพู่จามรีห้อยปลายพู่เป็นแก้วผลึก ภายนอกทาสีดำ ท้องเรือภายในทาสีแดง ตอนกลางลำเรือทอดบัลลังก์กัญญาหรือบุษบกสำหรับเป็นที่ประทับเรือมีความยาว 44.90 เมตร กว้าง 3.17 เมตร ลึก 0.94 เมตร ใช้กำลังพลรวม จำนวน 71 นาย แยกเป็นกำลังพลประจำเรือ 64 นาย ประกอบด้วย นายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 50 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย
คนขานยาว 1 นาย คนถือฉัตร 7 นาย และเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง จำนวน 7 นาย
เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. พ.ศ.2535 องค์การเรือโลกแห่งสหราชอาณาจักร พิจารณามอบรางวัลเรือโลกแก่เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์โดยคณะกรรมการองค์การ World Ship Trust เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญรางวัลเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เหรียญรางวัลมรดกทางทะเลขององค์การเรือโลกประจำพ.ศ.2535 (The World Ship Trust Maritime Heritage Award “Suphannahong Royal Barge”) พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานเหรียญรางวัลดังกล่าวแก่อธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแลรักษาเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช สร้างขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวส่วนลำปัจจุบันนั้น เป็นเรือสร้างใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โขนเรือปิดทองประดับกระจก เป็นรูปพญาอนันตนาคราช หรือ พญานาค 7 เศียร กลางลำเรือทอดบุษบกใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปหรือผ้ากฐินลำเรือภายนอกทาสีเขียวท้องเรือภายในทาสีแดง ตัวเรือมีความยาว 44.85 เมตร. กว้าง 2.58 เมตร ลึก 0.87 เมตร ใช้กำลังพลรวม จำนวน 72 นาย แยกเป็นกำลังพลประจำเรือ 69 นาย ประกอบด้วยนายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 54 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย คนถือฉัตร 7 นาย คนขานยาว 1 นาย พนักงานเห่เรือ 1 นาย และเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง จำนวน 3 นาย
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก แห่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ในวันที่ 9 มิ.ย. พ.ศ.2539 โดยกองทัพเรือร่วมกับกรมศิลปากรได้นำโขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 และ รัชกาลที่ 4 มาเป็นต้นแบบ โดยกองทัพเรือ สร้างในส่วนที่เป็นโครงสร้างเรือ พาย และคัดฉาก ส่วนกรมศิลปากร ดำเนินการในงานที่เกี่ยวกับศิลปกรรมของเรือทั้งหมด
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางกระดูกงูเรือ ณ กรมอู่ทหารเรือ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 5 ก.ย. พ.ศ.2537 และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร(พระราชอิสริยยศขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในพิธีปล่อยเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ลงน้ำเมื่อวันที่ 5 เม.ย. พ.ศ.2539
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เคยเป็นเรือพระที่นั่งทรง เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 7 พ.ย. พ.ศ.2539. โขนเรือจำหลักรูปพระวิษณุประทับยืนบนครุฑ พระวรกายคล้ำ ในพระกรทั้ง 4 ทรงถือ จักร สังข์ คฑา และตรีศูลประทับบนครุฑยุดนาคหรือครุฑที่จับนาค 2 ตัวชูขึ้น ที่หัวเรือเบื้องใต้ครุฑเป็นช่องสำหรับใส่ปืนใหญ่ กลางลำเรือทอดบังลังก์กัญญาและมีแท่นประทับลำเรือภายนอกท้องเรือภายในทาสีแดง ตัวเรือมีความยาว 44.30 เมตร กว้าง 3.20 เมตร ลึก 1.10 เมตร ใช้กำลังพลรวม จำนวน 71 นาย แยกเป็นกำลังพลประจำเรือ 64 นาย ประกอบด้วย นายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นายฝีพาย 50 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย. คนถือฉัตร 7 นาย คนขานยาว 1 นาย และเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง จำนวน 7 นาย
เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือสร้างใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยใน พ.ศ.2512 ได้รับการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ โดยงดการเข้าร่วมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เมื่อ พ.ศ.2510 เนื่องจากอยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก และบูรณะซ่อมแซมแล้วเสร็จใน พ.ศ.2515 หัวเรือลงรักปิดทองลายรดน้ำเป็นรูปพญานาคเล็ก ๆ จำนวนมาก ตอนกลางลำเรือทอดบัลลังก์กัญญา ซึ่งเป็นที่ประทับเปลื้องเครื่องหรือเปลื้องพระชฎามหากฐินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก่อนเสด็จขึ้น หรือ ลงเรือพระที่นั่งอีกลำ ลำเรือภายนอกทาสีชมพู ท้องเรือภายในทาสีแดง ตัวเรือมีความยาว 45.67 เมตร. กว้าง 2.91 เมตร ลึก 0.91 เมตร ใช้กำลังพลรวม 82 นาย แยกเป็นกำลังพลประจำเรือจำนวน 75 นาย ประกอบด้วย นายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 61 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย. คนถือฉัตร 7 นาย คนขานยาว 1 นาย และเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง 7 นาย
เรือเอกไชยเหินหาวและเรือเอกไชยหลาวทอง เรือสองลำนี้เป็นเรือคู่ชัก ทำหน้าที่ลากเรือ พระที่นั่งเช่น ชักลากเรือพระที่นั่งเมื่อน้ำเชี่ยวต้องการให้แล่นเร็วขึ้น เรือทั้งสองลำสร้างขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และเมื่อพ.ศ.2487 สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดจากอากาศยานที่ถล่มกรุงเทพมหานครสร้างความเสียหายให้กับเรือพระราชพิธีทั้ง 2 ลำนี้อย่างมาก และพ.ศ.2491. กรมศิลปากรได้ตัดหัวเรือและท้ายเรือเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ ใน พ.ศ.2508 กองทัพเรือและกรมศิลปากรร่วมกันบูรณะเรือ 2 ลำนี้ใหม่ โดยใช้หัวเรือเดิมมาประกอบ เรือ 2 ลำ มีลักษณะใกล้เคียงกันคือหัวเรือเป็นรูปดั้งเชิดสูงงอนขึ้นไป ลงรักปิดทองเขียนลายรดน้ำรูปเหรา (สัตว์ในตำนาน ลักษณะคล้ายมังกรแต่มีหัวเป็นงูหรือนาค)
อย่างไรก็ตามเรือ 2 ลำนี้มีรูปลักษณ์ของหัวเรือที่ต่างกันอยู่บ้างเป็นที่สังเกตได้ เช่น สีของดวงตาของเหรา (เรือเอกไชยเหินหาวดวงตาสีทอง กระทงเรือมีแท่นรองฉัตร 7 ต้น ด้วยเคยเป็นเรือพระที่นั่งทรงมาก่อน. และเรือเอกไชยหลาวทองดวงตาสีดำ) ตัวเรือมีความยาว 27.50 เมตร ความกว้าง 1.97 เมตร ความลึกถึงท้องเรือ 0.60 เมตร มีกำลังพลลำละ 44 นาย ประกอบด้วย นายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 38 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย
เรืออสุรวายุภักษ์และเรืออสุรปักษี เรือทั้ง 2 ลำ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 4 เรืออสุรปักษี ใช้ชื่อว่า อสุรปักษีสมุทร หรือ อสุรปักษา ทั้งนี้เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดจากอากาศยานที่ถล่มกรุงเทพมหานครสร้างความเสียหายเรือพระราชพิธีทั้งสองลำนี้มาก โดยกองทัพเรือร่วมกับ. กรมศิลปากร ได้ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมใหญ่เรืออสุรปักษี เมื่อ พ.ศ.2508 ส่วนเรืออสุรวายุภักษ์ได้บูรณะซ่อมแซมใหญ่เมื่อ พ.ศ.2514 เรืออสุรวายุภักษ์ โขนเรือเป็นรูปครึ่งยักษ์ครึ่งนกโดยมีองค์สีม่วง ส่วนเรืออสุรปักษี โขนเรือเป็นรูปครึ่งยักษ์ครึ่งนก โดยมีองค์สีเขียว ความยาว 31 เมตร ความกว้าง 2.03 เมตร ความลึกถึงท้องเรือ 0.62 เมตร มีกำลังพลลำละ 57 นาย ประกอบด้วยนายเรือ 1 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 40 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย คนกระทุ้งเส้า (ให้จังหวะ) 2 นาย และคนตีกลองชนะ 10 นาย
เรือกระบี่ราญรอนราพณ์และเรือกระบี่ปราบเมืองมาร ราพณ์เรือทั้ง 2 ลำ สร้างขึ้น ในรัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดจากอากาศยานที่ถล่มกรุงเทพมหานครสร้างความเสียหายให้กับเรือพระราชพิธีทั้งสองลำนี้มาก โดยกรมศิลปากร ได้ดำเนินการตัดหัวโขนเรือและท้ายเรือเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ เมื่อ พ.ศ.2491 และได้บูรณะซ่อมแซมใหญ่เมื่อ พ.ศ.2510 ทำการสร้างใหม่โดยใช้หัวโขนเรือเดิมนำมาซ่อมแซม เรือกระบี่ปราบเมืองมาร โขนเรือเป็นรูปวานร (หนุมาน) ร่างกายสีขาว ส่วนเรือกระบี่ราญรอนราพณ์ โขนเรือเป็นรูปวานร (นิลพัท) ไม่สวมเครื่องประดับหัว ร่างกายสีดำ ความยาว 26.80 เมตร ความกว้าง 2.10 เมตร ความลึกถึงท้องเรือ 0.51 เมตร มีกำลังพลลำละ 53 นาย ประกอบด้วย นายเรือ 1 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 36 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย คนกระทุ้งเส้า (ให้จังหวะ) 2 นาย และคนตีกลองชนะ 10 นาย
เรือพาลีรั้งทวีปและเรือสุครีพครองเมือง เรือทั้ง 2 ลำ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 1 แต่ชื่อเรือพาลีรั้งทวีป ใช้ว่าเรือพาลีล้างทวีป เรือพาลีรั้งทวีป โขนเรือเป็นรูปวานร (พาลี) สวมมงกุฎ โดยมีร่างกายสีเขียว ส่วนสุครีพครองเมือง เป็นรูปวานร (สุครีพ) สวมมงกุฎ โดยมีร่างกายสีแดง ความยาว 27.54 เมตร กว้าง 1.99 เมตรความลึกถึงท้องเรือ 0.59 เมตร มีกำลังพลลำละ 41 นายประกอบด้วย นายเรือ 1 นาย นายท้าย 2 นาย. ฝีพาย 34 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย คนกระทุ้งเส้า (ให้จังหวะ) 2 นาย
เรือครุฑเหินเห็จและเรือครุฑเตร็จไตรจักร เรือทั้ง 2 ลำ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 1 แต่ชื่อเรือครุฑเหินเห็จ ใช้ชื่อว่า เรือครุฑเหิรระเห็จ เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดจากอากาศยานที่ถล่มกรุงเทพมหานครสร้างความเสียหายให้กับเรือพระราชพิธีทั้ง 2 ลำนี้มากโดยกรมศิลปากร ได้ดำเนินการตัดหัวโขนเรือและท้ายเรือเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ เมื่อ พ.ศ.2491 และเมื่อ พ.ศ.2511 ทำการสร้างใหม่ โดยใช้หัวโขนเรือเดิมนำมาซ่อมแซม เรือทั้งสองลำ โขนเรือเป็นรูปครุฑจับนาค 2 ตัว ชูขึ้นเรือครุฑเหินเห็จ กายสีแดง ส่วนเรือครุฑเตร็จไตรจักรกายสีชมพู ความยาว 28.58 เมตร กว้าง 2.10 เมตร ความลึกถึงท้องเรือ 0.56 เมตร มีกำลังพลลำละ41 นาย ประกอบด้วย นายเรือ 1 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 34 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย คนกระทุ้งเส้า (ให้จังหวะ) 2 นาย
เรือเสือทยานชลและเรือเสือคำรณสินธุ์ เป็นเรือประเภทเรือพิฆาต มีหน้าที่สำหรับทำการรบโดยเฉพาะไม่พบหลักฐานในการสร้างและจำนวนที่สร้างที่ชัดเจนแต่ปรากฏชื่อเรือทั้ง 2 ลำ ในลิลิตกระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตราทั้งทางสถลมารคและทางชลมารคใน พ.ศ.2387 ต่อมารัชกาลที่ 6 เหลือเพียง 1 คู่ คือเรือเสือทยานชลและเรือเสือคำรณสินธ์ โดยเรือทั้ง 2 ลำ ได้บูรณะซ่อมแซมใหญ่เมื่อ พ.ศ.2524 เช่นเปลี่ยนไม้ตัวเรือที่ผุชำรุดบางส่วน ตกแต่งลวดลาย ทาสีตัวเรือ เป็นต้น ตัวเรือวาดลงสีรูปเสือไว้ที่หัวเรือซึ่งมีช่องที่มีปืนใหญ่ยื่นออกมาภายในท้องเรือทาสีแดง ตัวเรือมีความยาว 22.23 เมตร กว้าง 1.75 เมตร ความลึกท้องเรือ 0.70 เมตร มีกำลังพล ลำละ 34 นาย ประกอบด้วย นายเรือ 1 นาย นายท้าย 2 นายฝีพาย 26 นาย พลสัญญาณ 1 นาย และคนนั่งประจำคฤห์ 3 นาย
เรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่น ทำหน้าที่เป็นเรือประตูหน้า หรือเรือสำหรับนำหน้าขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ลำเดิมไม่พบหลักฐานในการสร้าง ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ถูกลูกระเบิด ตัวเรือได้รับความเสียหาย กรมศิลปากรได้ตัดหัวเรือและท้ายเรือเดิมและได้สร้างตัวเรือขึ้นใหม่ เรือทั้งสองลำมีลักษณะเป็นเรือดั้งทาน้ำมันยอดดั้งปิดทอง หัวเรือแกะสลักลวดลาย ท้ายเรือลงรักปิดทองประดับกระจก ตัวเรือความยาว 32.08 เมตร กว้าง 1.88 เมตร ลึก 64 เซนติเมตร ใช้กำลังพลลำละ 43 คน ประกอบด้วยนายเรือ 1 คนนายท้าย 2 คน ฝีพาย 39 คน และคนให้สัญญาณ 1 คน มีปลัดกระทรวงกลาโหมนั่งในกัญญาเรือทองขวานฟ้าและปลัดกระทรวงมหาดไทย นั่งในกัญญาเรือทองบ้าบิ่น
เรือดั้ง ทำหน้าที่เป็นเรือป้องกันขบวนเรือ ไม่พบประวัติการสร้าง คำว่า “ดั้ง” แปลว่า “หน้า” ดังนั้นเรือดั้งจึงหมายถึงเรือหน้า คำว่าเรือดั้ง พบครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เรือดั้ง มีจำนวนทั้งสิ้น 22 ลำ โดยเรือดั้ง 1 - 20 ทาสีน้ำมันเป็นสีดำ ส่วนเรือดั้ง 21 - 22 เป็นสีทอง โดยเรือดั้ง 22 ลำ ไม่มีลวดลาย ส่วนหัวตั้งสูงงอน ทั้งนี้เรือดั้งแต่ละลำจะมีความยาวของเรือไม่เท่ากัน แต่จะมีความยาวอยู่ระหว่าง 23.6 - 27.3 เมตร ความกว้าง 1.5 - 1.7 เมตร ในขณะที่กำลังพลประจำเรือประกอบด้วย นายเรือ 1 นายนายท้าย 2 นาย พลสัญญาณ 1 นาย เส้า 2 นาย ประจำคฤห์ 5 นาย (นายทหาร 1 นาย พลทหาร 4 นาย) เหมือนกันทุกลำ แต่สำหรับฝีพายจะมีจำนวนแตกต่างกัน เนื่องจากความยาวของเรือไม่เท่ากัน โดยเรือดั้ง 1 มีฝีพาย 32 นาย เรือดั้ง 2 - 4 มีฝีพาย 30 นาย เรือดั้ง 5 - 11 มีฝีพาย 28 นาย เรือดั้ง 12 - 22 มีฝีพาย 16 นาย เรือตำรวจ ที่มีหน้าที่เป็นองครักษ์มีพระตำรวจหลวงชั้นปลัดกรมนั่งคฤห์ มีจำนวน 3 ลำไม่พบประวัติการสร้าง รูปร่างและขนาดของเรือทาน้ำมันสีดำเกลี้ยงตลอดทั้งลำเรือ ความยาว 20.97 เมตร ความกว้าง 1.41 เมตร ความลึกท้องเรือ 0.47 เมตร กำลังพลประจำเรือ ลำละ 28 นาย ประกอบด้วย นายเรือ 1 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 24 นาย พลสัญญาณ 1 นาย
เรือแซง เรือที่ทำหน้าที่อารักขาพระมหากษัตริย์เหมือนกับทหารมหาดเล็ก สามารถแซงเรือในขบวนมาอารักขาพระมหากษัตริย์ได้ มีจำนวน 7 ลำ ไม่พบหลักฐานที่สร้าง แต่มีบันทึกไว้ว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้จัดเรือแซง จำนวน 4 ลำ ไว้ท้ายขบวน และในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เพิ่มสำหรับพระตำรวจอีก 2 ลำ โดยใน 4 ลำแรกใช้ทหาร จึงเรียกว่า “เรือแซงทหาร” ส่วนอีก 2 ลำนั้น เรียก “เรือแซง” ต่อมาในรัชกาลที่ 7 ได้ตัดเรือแซงของพระตำรวจออกไปและเรือแซงทหารได้เปลี่ยนชื่อเป็นเรือแซงจนถึงปัจจุบัน รูปร่างและขนาดเรือ ลักษณะหัวเรือเชิดขึ้นเหนือแนวน้ำทาสีดำ แต่ละลำมีขนาดไม่เท่ากัน โดยเรือแซง 1 - 6 มีความยาวเท่ากันคือ 23.2 เมตร แต่จะมีความกว้าง ไม่เท่ากันแต่อยู่ระหว่าง 1.40 - 1.62 เมตร ส่วนเรือแซง 7 มีความยาว 24.7 เมตร กว้าง 1.5 เมตร กำลังพล ประจำเรือ ประกอบด้วย นายเรือ 1 นาย นายท้าย 2 นาย พลสัญญาน 1 นาย เหมือนกันทุกลำ ยกเว้นฝีพายเรือ 1 - 6 มีฝีพาย 24 นาย ส่วนเรือแซง 7 มีฝีพาย 30 นาย โดยเรือดั้ง 1มีฝีพาย 32 นาย เรือดั้ง 2 - 4 มีฝีพาย 30 นาย เรือดั้ง 5 - 11 มีฝีพาย 28 นาย เรือดั้ง 12 - 22 มีฝีพาย 26 นาย