"ชาวนาสุพรรณบุรี" ประสบภัยแล้ง "ต้นข้าว" เริ่มขาดน้ำหล่อเลี้ยงต้องซื้อน้ำใส่นาข้าว
18 พ.ย. 2562, 19:40
ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ชาวนาตำบลหนองผักนาก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี นาข้าวพื้นที่ หมู่ 1-2-3-4-5-6 และหมู่ 8 จำนวนกว่า 6,000 ไร่ ข้าวกำลังออกรวงใกล้ที่จะเกี่ยวผลผลิตได้ แต่ขณะนี้ต้นข้าวเริ่มขาดน้ำจะยืนต้นตาย ซึ่งที่ผ่านมาชาวนาทราบดีว่า ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประกาศว่าในฤดูกาลทำนาปีนี้ น้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้อย ไม่มีน้ำเข้าคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง ให้เกษตรกรได้สูบใส่นาข้าว จึงขอร้องให้ชาวนาหยุดทำนาปี แต่ช่วงฤดูฝนที่ผ่านมาชาวนาเห็นว่ามีฝนตกลงมีมากพอประมาณ ชาวนาหลายรายหวังว่าจะมีน้ำพอทำนาฤดูกาลนาปีนี้ จึงได้ลงทุนทำนาข้าวไปจำนวนมาก จนขณะนี้ชาวนาประสบปัญหาภัยแล้งเนื่องจากปีนี้ฤดูแล้งมาเร็วกว่าทุกปี นาข้าวจึงได้รับผลกระทบ เนื่องจากนาข้าวส่วนใหญ่ที่ชาวนาได้เพราะปลูกเอาไว้กำลังออกรวง ชาวนาจึงได้รับความเดือดร้อนหนัก เนื่องจากชาวนาได้ลงทุนทำนาไปแล้ว มีทั้งค่าใช้จ่ายค่าน้ำมันรถไถนา ค่าพันธุ์ข้าวปลูก ค่าปุ๋ย ค่ายา ประมาณไร่ละ 3,000-4,000 บาท และนอกจากนี้ยังมีค่าเช่านาอีก เกษตรกรมีอาชีพทำนาทำไร่ตั้งแต่บรรพบุรุษ ไม่ให้ทำนาทำไร่ก็ไม่รู้จะไปทำอะไรกิน อย่างไรก็ตามชาวนาส่วนใหญ่ก็ขอสู้ จึงจำเป็นต้องซื้อน้ำมาใส่นาข้าว ที่กำลังขาดน้ำเพื่อช่วยเหลือตัวเองก่อนยังมีความหวังว่าข้าวที่กำลังออกรวงใกล้จะเก็บเกี่ยวผลผลิตแต่ยังขาดน้ำอยู่ เมื่อลงทุนซื้อน้ำมาใส่แล้วจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตนำข้าวมาขายเพื่อหาเงินมาใช้จ่ายในครอบคัว ใช้หนี้ค่าปุ๋ย ค่ายาได้บ้าง ถึงแม้จะต้องขาดทุนก็ยังดีกว่าที่จะปล่อยให้ต้นข้าวที่กำลังออกรวงเหี่ยวแห้งตายไปต่อหน้าต่อตา แล้วทุนที่ลงไปก็จะเสียหายทั้งหมด ชาวนาพื้นที่ ต.หนองผักนาก อ.สามชุก จำเป็นต้องซื้อน้ำจากรถบรรทุกน้ำราคา คันรถละ 800-1,000 บาท นำมาใส่นาข้าวเพื่อเป็นการช่วยเหลือตัวเองไปก่อนที่น้ำจากคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง จะมาเนื่องจากนาข้าวที่กำลังออกรวงไม่สามารถรอน้ำจากคลองได้ เพราะไม่ทราบว่าน้ำจะมาช่วงวันเวลาไหนแน่
ขณะเดียวกันได้มีเจ้าหน้าที่ อส.อ.สามชุก รายหนึ่งลงคอมเม้นท์ในข่าว เรื่องที่ชาวนาซื้อน้ำใส่นาข้าวว่า ทางการประกาศไม่ให้ทำนาแล้วชาวนายังดื้อทำนาอีก แล้วชาวนาจะมาโอดครวญทำไม และ อส.รายนี้ ยังได้คอมเม้นท์ต่อว่านักข่าวว่า ที่ไปทำข่าวว่าไปเสี้ยมชาวนา เพื่อจะขายข่าว ต่อว่านักข่าว ว่านักข่าวใช้ไม่ได้ จนกระทั่งชาวนาทราบเรื่องว่าถูก อส.รายนี้ คอมเม้นท์ในข่าวต่อว่าชาวนา ส่งผลกระทบกับชาวนา และสร้างความสะเทือนใจกับชาวนา ชาวนาจึงไม่พอใจถึงการกระทำของ อส.รายนี้ ซึ่งชาวนากำลังเดือดร้อน และนักข่าวมานำเสนอข่าวว่ากว่าที่ชาวนาจะปลูกข้าวได้แต่ละเม็ดมันยากลำบากขนาดไหน แล้วยังมาถูก อส.รายนี้คอมเม้นท์ต่อว่าอย่างเสียๆ หายๆ อีก ไม่ได้ช่วยแล้วยังมาด่ากันอีก ไม่สมกับเป็นเจ้าหน้าที่ของฝ่ายปกครองเลย ซึ่งที่ผ่านมาชาวนาก็ไม่ได้เรียกร้องให้ใครมาช่วยเหลือ และเมื่อนาข้าวขาดน้ำ ชาวนาก็หาเงินซื้อน้ำใส่นาข้าวเอง ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน แล้วยังจะมาถูกเจ้าหน้าที่ อส.รายนี้ มาคอมเม้นท์ต่อว่าทั้งชาวนาและนักข่าวทำไม เนื่องจากการกระทำของ อส.รายนี้ ส่งผลกระทบกับจิตใจของชาวนาเป็นอย่างมาก สงสัยว่าต้นตระกูลคงจะไม่เคยทำนาจึงออกมาแสดงความคิดเห็นต่อว่าชาวนาและนักข่าวแบบนี้ ชาวนาจึงอยากให้เจ้าหน้าที่ อส.อ.สามชุก รายนี้ ออกมาขอโทษชาวนาและนักข่าวด้วย
ขณะที่นายมงคล เที่ยงธรรม อายุ 50 ปี ชาวนาหมู่ 3 ต.หนองผักนาก อ.สามชุก เปิดเผยว่า ได้ทำนาฤดูกาลน้ำจำนวน 12 ไร่ ลงทุนไปแล้วกว่า 20,000 บาท ต้นข้าวอายุ 50 วัน ปีนี้หน้าแล้งมาเร็ว ส่งผลให้นาข้าวขาดน้ำประกอบกับน้ำคลองไม่มี และไม่มีทุนที่จะไปซื้อน้ำมาใส่นาข้าว จึงจำเป็นต้องปล่อยทิ้งให้ข้าวเหี่ยวแห้งเสียหายทั้ง 12 ไร่ ดีกว่าจะเสี่ยงลงทุนเพิ่มจะเสียหายมากกว่าเดิมอีก สำหรับนาข้าวบางรายก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก็โชคดีไป แต่ช่วงนี้ราคาข้าวเพียงแค่ ตันละ 6,300-7,000 บาทเท่านั้น
ด้าน นายยศดนัย น้อยแก้ว ผอ.โครงการชลประทานจังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ระบายน้ำเข้าแม่น้ำท่าจีน 25 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อใช้อุปโภคบริโภค กับใช้กับพืชสวนประเภทไม้ยืนต้น และใช้รักษาระบบนิเวศปริมาณน้ำไม่พอนำไปใช้ทางการเกษตร เนื่องจากปริมาณน้ำปีนี้มีน้ำน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนชาวนาที่ใช้น้ำจากคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง ขณะนี้มีนาข้าวตั้งแต่ จ.ชัยนาท บางส่วน และพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี จำนวน 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เดิมบางบางบวช อ.สามชุก อ.ดอนเจดีย์ อ.เมืองสุพรรณบุรี และ อ.อู่ทอง มีนาข้าวราว 2 แสนไร่ ที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิต ยังรอน้ำจากทางชลประทานปล่อยเข้าคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง แต่มีชาวนาหลายราย ที่ข้าวกำลังตั้งท้องและกำลังออกรวง ไม่สามารถรอน้ำจากคลองได้ จึงจำเป็นต้องหาทางช่วยเหลือตัวเองก่อน โดยการไปซื้อน้ำจากรถบรรทุกน้ำเที่ยวละประมาณ 800-1,000 บาท ตามระยะทางที่ไปเอาน้ำใกล้ไกล เนื่องจากหากต้องรอน้ำจากคลองนาข้าวอาจจะเสียหายทั้งแปลงและจะไม่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตชาวนาก็จะขาดทุนทั้งหมด ล่าสุดชลประทานจังหวัดสุพรรณบุรี ได้ประสานกับกรมชลประทานแล้ว เพื่อขอให้เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ปล่อยน้ำมาช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิต ส่วนน้ำจากแม่น้ำท่าจีน ช่วงหลังประตูน้ำโพธิ์พระยา อ.เมืองสุพรรณบุรี ระบายน้ำจำนวน 5 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อใช้อุปโภคบริโภค และระบบนิเวศ อย่างไรก็ตามต้องรอทางกรมชลประทาน ว่าจะอนุมัติให้ระบายน้ำมาช่วยเกษตรกรวันเวลาไหนและปริมาณเท่าไร สำหรับปริมาณน้ำในเขื่อนกระเสียว อ.ด่านช้าง ขณะมีปริมาณน้ำจำนวน 63 ล้านลูกบาศก์เมตร จำนวน 21 เปอร์เซ็นต์ สามารถใช้น้ำได้เพียงแค่ 23 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 8 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ซึ่งขณะนี้เขื่อนกระเสียว ต้องปล่อยน้ำจำนวน 2 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพื่อนำไปใช้อุปโภคบริโภคเท่านั้น