เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"เจ้าท่าภูมิภาคสาขาตรัง" ลุยแก้ปัญหาสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำทางน้ำ 2 อำเภอ


20 พ.ย. 2562, 13:19



"เจ้าท่าภูมิภาคสาขาตรัง" ลุยแก้ปัญหาสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำทางน้ำ 2 อำเภอ




วันที่ 20 พ.ย. 62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวินัย หมื่นสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาตรัง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่หมู่ 4 ต.ตะเสะ อ.หาดสำราญ จ.ตรัง  เพื่อพบกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหาร และสมาชิกสภา อบต. เพื่อชี้แจงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่พี่น้องชาว ต.ตะเสะ อ.หาดสำราญ จำนวน 59 ครัวเรือน  กรณีออกมาร้องเรียนผ่าน นายลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ว่า ถูกเรียกเก็บเงินตามใบอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ  ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งก่อสร้างประเภทบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแจ้งและการพิจารณาอนุญาตปลูกสร้างอาคาร หรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำแม่น้ำ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 32/2560

สำหรับหลักเกณฑ์สำคัญแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ สิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำที่สร้างก่อนวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2515  กรมเจ้าท่า รับเป็นประเภทขึ้นทะเบียน โดยชาวบ้านไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย  แต่หากสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำดังกล่าว สร้างขึ้นนับตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์  2515 ถึง 22 กุมภาพันธ์ 2560 กรมเจ้าท่า จะออกเป็นใบอนุญาต  โดยประชาชนผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องเสียค่าตอบแทนรายปี ในอัตราตารางเมตรละ 5 บาท ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า หลังจาก อบต.เรียกเก็บเงินค่าตอบแทนรายปี  ทำให้ชาวบ้านเกิดข้อสงสัยว่าทำไมพวกตนต้องจ่าย เพราะอยู่อาศัยมายาวนาน หรือบางรายอยู่อาศัยรับช่วงมาหลายชั่วอายุคน

ทั้งนี้ จากการพูดคุยวิเคราะห์ปัญหาร่วมกันของเจ้าหน้าที่เจ้าท่า กับผู้นำชุมชน ทำให้ทราบว่า สาเหตุเกิดจากความคลาดเคลื่อนในการแจ้งข้อมูลการครอบครองของชาวบ้านส่วนใหญ่ ซึ่งอาจเกิดจากการแจ้งโดยยึดตัวบุคคลที่อาศัยอยู่ปัจจุบันเป็นสำคัญ ไม่มีหลักฐานแนบ หรือยืนยันประกอบการพิจารณาว่า ก่อสร้างหรืออยู่อาศัยมาก่อนวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2515 ประกอบกับในช่วงของการสำรวจและแจ้งการครอบครองขณะนั้น ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว หากไม่ดำเนินการตามกำหนดจะมีความผิดตามกฎหมายโดยโทษสูงสุดจำคุก 3 ปี ทำให้การแจ้งข้อมูลของชาวบ้านเป็นไปอย่างกระชั้นชิด ไม่ครบถ้วน จึงต้องจ่ายค่าตอบแทนให้ท้องถิ่นตามระเบียบดังกล่าว

นายวินัย หมื่นสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาตรัง กล่าวว่า หากมีหลักฐานใหม่ที่ยืนยันได้ว่าชาวบ้านทั้งหมดอยู่มาก่อนวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2515 ก็พร้อมจะแก้ไขมาเป็นการขึ้นทะเบียนให้ทันที หากสภา อบต.ได้รับรองข้อมูลดังกล่าวแล้ว ส่วนชาวบ้านที่อ้างว่าสิ่งล่วงน้ำลำน้ำดังกล่าวก่อสร้างอยู่บนที่เอกสารสิทธิ์ที่ดิน เช่น โฉนดที่ดิน หรือ ส.ค.1 แต่ถูกคลื่นซัดจนผืนดินหายไปกลายเป็นอยู่ในน้ำ หรืออยู่ในทะเล ทั้งนี้ มีคำวินิจฉัยปรากฎในกฤษฎีกาว่า หากได้สร้างสิ่งหวงแหนหวงกันไว้ให้ ถือว่าเป็นแดนกรรมสิทธิ์ ก็สามารถแก้ไขจากใบอนุญาตมาเป็นการขึ้นทะเบียนได้เช่นเดียวกัน ทำให้ชาวบ้านต่างดีใจ เพราะจะได้มีทางออกเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว

ขณะเดียวกัน นายสมัย โชติสกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะ และ นายวินัย หมื่นสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาตรัง ก็ได้เดินทางลงพื้นที่ ต.เกาะลิบง อ.กันตัง ซึ่งมีชาวบ้านได้รับใบอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำจากกรมเจ้าท่า จำนวนหลายร้อยราย แต่บางส่วนประสบก็ปัญหาคลาดเคลื่อนไปจากสภาพความเป็นจริง ซึ่งทางเจ้าท่าพร้อมจะดำเนินการแก้ไขให้เช่นเดียวกัน แต่ทั้งหมดจะต้องขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานข้อเท็จจริงที่ชาวบ้านมีประกอบยืนยัน และต้องให้สภาท้องถิ่นพิจารณารับรองข้อมูลด้วย




 

 






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.