เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



มท.1 นั่งหัวโต๊ะถกขับเคลื่อนนโยบายผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เน้นยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทำงานเพื่อประโยชน์ ปชช.


21 พ.ย. 2562, 18:03



มท.1 นั่งหัวโต๊ะถกขับเคลื่อนนโยบายผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เน้นยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทำงานเพื่อประโยชน์ ปชช.




วันนี้ ( 21 พ.ย.62 ) เวลา 14:00 น. ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 5 อาคาร 3 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 (ไตรมาส 1/2563) โดยมี นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย อธิบดี ผู้ตรวจราชการกระทรวง หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนงานโดยยึดหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) ด้วยการกำหนดแผนงาน/โครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโนบายและแผนชาติว่าด้วยความมั่นคง ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง มุ่งตอบสนองปัญหาและความต้องการของประชาชน เพื่อสร้างความพึงพอใจและความผาสุกให้กับประชาชน และที่สำคัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในพื้นที่อย่างเป็นเอกภาพ

จากนั้น พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้มอบนโยบายการขับเคลื่อนงานนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญขอวกระทรวงมหาดไทย อาทิ 1) การขับเคลื่อนโครงการเฉลิมพระเกียรติและโครงการพระราชดำริ โดยให้ถือเป็นโครงการที่มีความสำคัญที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและสมพระเกียรติ 2) การรักษาความสงบเรียบร้อยและการรักษาความมั่นคงภายใน ต้องมุ่งเสริมสร้างและพัฒนาด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ และการแก้ไขปัญหายาเสพติด ต้องพัฒนาหลักสูตรการบำบัดรักษาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดให้ได้รับการฝึกอาชีพชุมชน สามารถกลับเข้าสู่สังคม มีอาชีพ มีรายได้ และไม่กลับไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติดอีก 3) การเตรียมความพร้อมจัดการสาธารณภัย ต้องสร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้ทราบถึงแนวทางการปฏิบัติตนเตรียมการรับมือ รวมทั้งการใช้ชีวิตขณะเกิดภัย ช่องทางการติดต่อ และหากเกิดภัย ต้องทำให้ประชาชนได้กลับมาใช้ชีวิตให้เป็นปกติสุขโดยเร็วที่สุด 

4) การดำเนินงานศูนย์ดำรงธรรม ถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญของผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะ "พ่อเมือง" ต้องทำให้ศูนย์ดำรงธรรมมีความศักดิ์สิทธิ์ คือ ต้องเป็นกลไกที่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้จริง 5) การบูรณาการสร้างการรับรู้สู่ชุมชน ต้องสร้างการรับรู้องค์ความรู้และข้อมูลของทุกกระทรวงให้ไปถึงประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้ทราบข้อมูลที่ถูกต้อง 6) การดำเนินงานของท้องที่ ต้องกำชับให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในพื้นที่ และปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างของประชาชนในพื้นที่ 7) การบริหารจัดการขยะมูลฝอย ต้องรณรงค์ให้ประชาชนทุกครัวเรือนปฏิบัติตามหลัก 3ช (3Rs) คือ ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และต้อง "แยกขยะ" อย่างจริงจัง นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีระบบจัดเก็บขยะแยกตามประเภท กำหนดระยะเวลาการเก็บและขนย้ายขยะ รวมทั้งในบริเวณพื้นที่สาธารณะ ต้องจัดให้มีถังขยะเพื่อรองรับปริมาณขยะ ไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและกลายเป็นขยะทะเล 

8) การจัดการน้ำเสีย ต้องบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารและสิ่งแวดล้อม ให้อาคารบ้านเรือนต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่ท่อน้ำสาธารณะ และให้องค์การจัดการน้ำเสีย และ อปท. ดำเนินการระบบบำบัดน้ำเสียในแต่ละพื้นที่ 9) ความปลอดภัยทางถนนและทางน้ำ ต้องมีมาตรการสร้างจิตสำนึกการใช้รถใช้ถนน และการสัญจรทางน้ำ รวมถึงใช้มาตรการทางกฎหมายจราจรทั้งทางบกและทางน้ำอย่างเข้มข้น 10) การแก้ไขปัญหา PM2.5 ให้ดำเนินมาตรการเชิงรุกในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ โดยลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดหมอกควันและจัดระเบียบการเผาในทุกพื้นที่ 11) ด้านการบริหารจัดการน้ำและการเตรียมการรับมือภัยแล้ง ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาวะอากาศและบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิด รวมทั้งสำรวจและจำแนกพื้นที่เสี่ยงภัย สร้างการรับรู้กับประชาชน รณรงค์ใช้น้ำอย่างประหยัด หากพบพื้นที่ประสบภัยแล้งให้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนตามระเบียบทันที เป็นต้น

นายนิพนธ์ บุญญามณี กล่าวว่า ในปัจจุบันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกพื้นที่จะทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญควบคู่กับการบริหารราชการแผ่นดิน และตั้งกระทู้ถามส่วนราชการเกี่ยวกับปัญหาในแต่ละพื้นที่ จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหมั่นลงพื้นที่ติดตามประเด็นปัญหาในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อสามารถนำข้อมูลสำหรับตอบกระทู้ถามของสมาชิกรัฐสภาอันเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน นอกจากนี้ ในด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ปัจจุบันมีถนนในความรับผิดชอบของ อปท. กว่า 5.9 แสนกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 86 ของถนนทั้งประเทศ ซึ่งจากสถิติพบว่ามักจะเกิดอุบัติเหตุบนถนนในความรับผิดชอบของ อปท. จำนวนมาก จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำกับดูแลการจัดทำแผนท้องถิ่นให้มีโครงการรองรับการแก้ไขปัญหาจราจรในความรับผิดชอบของท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งถือเป็นกลไกที่จะสร้างการมีส่วนร่วมในการลดอุบัติเหตุอย่างยั่งยืน

นายทรงศักดิ์ ทองศรี กล่าวว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก การพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ ผู้นำชุมชน กลุ่มสตรี การต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP และบูรณาการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนให้มีเศรษฐกิจดีขึ้น และในด้านการกำจัดผักตบชวา ขอให้ผู้ว่าฯ กำชับหน่วยงานในพื้นที่จัดเก็บอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมการแปรรูปผักตบชวาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ ในด้านการจัดทำผังเมือง ต้องรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อสนองตอบความต้องการของประชาชนให้สามารถพัฒนาตามทิศทางแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดขับเคลื่อนงานตามอำนาจหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย รวมทั้งขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาลให้เกิดประสิทธิภาพ ทำหน้าที่ในฐานะ "พ่อเมือง" ที่สนองตอบความต้องการและแก้ไขปัญหาให้ประชาชนตามอำนาจหน้าที่อย่างแท้จริง 




 






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.