มอ.วิทยาเขตตรัง จัดทำโครงการวิจัยย่านตาขาวโมเดลชุมชนยั่งยืน
25 พ.ย. 2562, 15:30
ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ผช.ศ.ดร.ปาริชาติ มณีมัย ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตตรัง กล่าวว่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ ได้ร่วมกันดำเนินโครงการวิจัย "ย่านตาขาวโมเดล" ขึ้น เพื่อศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ของอำเภอย่านตาขาว ที่จะนำไปสู่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนอย่างยั่งยืน โดยนำเอาหลักการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" ของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาเป็นกรอบในการดำเนินงาน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเข้าใจ ปี 2559-2560 ระยะเข้าถึง ปี 2561-2562 และระยะพัฒนา ปี 2562-2563 เพื่อต้องการให้เมืองย่านตาขาว เป็นต้นแบบของการพัฒนา
ผลจากการลงพื้นที่ของทีมวิจัย มอ.วิทยาเขตตรัง ในระยะแรก พบว่า อำเภอย่านตาขาว มีแหล่งมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งป่า เขา ต้นน้ำ ลำธาร น้ำตก แม่น้ำ ป่าชายเลน มีมรดกทางวัฒนธรรม ได้แก่ ศิลปหัตถกรรม ประเภทงานไม้ งานแกะสลัก งานจักสาน มีมรดกทางสถาปัตยกรรม เช่น วัด มัสยิด คริสตจักร โรงพระ และบ้านเก่าที่หัวสะพานย่านตาขาว ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ มีมรดกทางวัฒนธรรมในรูปแบบวิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประเพณีวัฒนธรรม และศิลปะการแสดง
ในปี 2561 ได้มุ่งเน้นการศึกษาและรวบรวมข้อมูลด้านวัฒนธรรมของชุมชนให้ครบถ้วน ทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก อาทิ วิถีชีวิต ภูมิปัญญา ศิลปการแสดง ประเพณี และอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อให้สามารถมองเห็นอัตลักษณ์ของชุมชน และนำไปสู่การคัดสรรทรัพยากรวัฒนธรรมของชุมชน ในการจัดการ การอนุรักษ์ฟื้นฟู และใช้อัตลักษณ์ของชุมชน เพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในรูปแบบเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ พร้อมพัฒนารูปแบบกิจกรรมและการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่คำนึงถึงอัตลักษณ์ชุมชน เพื่อการจัดการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพมากขึ้น
ส่วนในปี 2562-2563 หรือในระยะการพัฒนา ได้เน้นไปที่การใช้อัตลักษณ์ของชุมชนเพื่อออกแบบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ การพัฒนารูปแบบวัฒนธรรมและศิลปการแสดงเพื่อสนับสนุนกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและกิจกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่น แอปพลิเคชัน เว็บไซต์ ฐานข้อมูล การใช้แบรนด์ย่านตาขาว เพื่อการสื่อสารทางการตลาด การสร้างผลิตภัณฑ์และบริการจากอัตลักษณ์ แล้วนำไปสู่การพัฒนาโมเดลธุรกิจเพื่อสังคม อันจะเป็นการยกระดับมูลค่าทางเศรษฐกิจชุมชนทุกด้าน รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมไปยังเยาวชนและสมาชิกในชุมชน
ทีมวิจัย มอ.วิทยาเขตตรัง คาดหวังว่า โครงการนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเมืองย่านตาขาว ให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในพื้นที่เพิ่มขึ้น ส่วนชุมชนก็จะสามารถนำเอาองค์ความรู้ไปใช้ต่อ ไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนร่วมของผู้คนในชุมชนเอง หรือกับภาครัฐ และภาคเอกชน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การที่ชุมชนได้รักษาเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และมรดกทางภูมิปัญญาเอาไว้ให้คงอยู่สืบไป จนเป็นตัวอย่างของชุมชนที่เข้มแข็ง และเป็นแบบอย่างให้กับชุมชนอื่นๆ ได้ในอนาคต