"จันทบุรี" เตรียมพร้อมรองรับภัยแล้ง จัดทำแผนบูรณาการ เตือนเกษตรกรใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและประหยัด
26 พ.ย. 2562, 19:20
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายอวิรุทธ์ วรกิตติไพศาล ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า ตามที่จังหวัดจันทบุรี ได้ประชุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเรื่องของมาตรการป้องกันภัยแล้งที่ปีนี้ ทางจังหวัดรวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีการจัดทำแผนเผชิญเหตุในการป้องกันภัยแล้งที่คาดว่าจะยาวนาน และรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อเกษตรกรชาวสวนผลไม้ ทั้งลำไย ทุเรียน มังคุด เงาะ และอื่นๆ ที่ต้องการน้ำในการบำรุงผลผลิต อย่างไรก็ตามจากข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัด พบว่าพื้นที่การปลูกผลไม้เศรษฐกิจมีเพิ่มมากขึ้นจึงมีความเป็นไปได้สูงที่เกษตรกรต้องใช้น้ำเพื่อหล่อเลี้ยงผลผลิต อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดได้เตรียมรับมือป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้งไว้แล้วทั้งการประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกร การจัดทำแผนบูรณาการป้องกันปัญหาทั้งระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น อย่างไรก็ตามข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดจันทบุรี พบว่าปีนี้ ปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก และอ่างกักเก็บน้ำรวม 8 แห่ง ยังคงเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของประชาชนแต่ต้องใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า และ ประหยัดรวมทั้งบริหารจัดการอย่างรอบครอบ โดยข้อมูล ณ วันที่ 26 พ.ย.62 พบว่า ปริมาณน้ำที่เขื่อนคิรีธารสามารถกักเก็บได้ 70.983 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 93.40 ของความจุเขื่อน / ปริมาณน้ำเขื่อนพลวง 72.504 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 90.43 ของความจุเขื่อน / ปริมาณน้ำอ่างเก็บน้ำคลองศาลทราย 11.320 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 94.33 ของความจุอ่าง / ปริมาณน้ำอ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธ 60.629 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 77.73 ของความจุอ่าง / ปริมาณน้ำอ่างเก็บน้ำคลองประแกต 60.902 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 101.07 ของความจุอ่าง / ปริมาณน้ำที่ประตูระบายน้ำคลองวังโตนด 10.550 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 119.21 ของความจุอ่าง / ปริมาณน้ำฝายยางจันทบุรี 3.480 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 82.86 ของความจุฝาย และ ปริมาณน้ำฝายยางท่าระม้า 0.872 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 105.06 ของความจุฝาย
อย่างไรก็ตามจังหวัดจันทบุรีมีพื้นที่การเกษตรโดยเฉพาะพืชสวนจำนวนมาก และต้องใช้น้ำในการบำรุงผลผลิต จึงจำเป็นที่จะต้องบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบเพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากสถานการณ์ภัยแล้ง และขณะนี้สภาพอากาศของจังหวัดจันทบุรีฝนได้ทิ้งช่วงแล้ว จึงขอให้เกษตรกรชาวสวนผลไม้เตรียมความพร้อมป้องกันภัยแล้งที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร การเตรียมตัวป้องกันที่ดีจะลดผลกระทบที่อาจะเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี และหากประสบปัญหาวิกฤติเกษตรกร หรือราษฎรที่ได้รับผลกระทบสามารถร้องขอความช่วยเหลือได้จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใกล้บ้านหากความเดือดร้อนขยายวงกว้างจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พร้อมให้การสนับสนุนทันทีตามแผนเผชิญเหตุที่วางไว้