"นายอำเภอเชียงกลาง" นำประชาชน - นทท. ใส่บาตรข้าวเปลือก ลงแขกดำนาปลูกข้าว ขยายเป็นกล้าพันธุ์แห่งความดี
3 ธ.ค. 2562, 11:32
นายธวัช จรัสวรภัทร นายอำเภอเชียงกลาง เป็นประธาน นำประชาชนและนักท่องเที่ยว ใส่บาตรข้าวเปลือก ที่ทางสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวน่าน ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดน่าน สโมสรไลออนส์เชียงกลาง และเครือข่ายชวนกันทำดี มาทำความดี ร่วมกันลงแขกดำนา ปลูกข้าว และเก็บเกี่ยว จากแปลงข้าวนาบุญ แสงทองรีสอร์ท อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน ในโครงการชวนกันทำดี ข้าวนาบุญ แสงทองของคนน่าน และกิจกรรมเกี่ยวความดี ที่ทำเนื่องเป็นปี 2 เพื่อนำข้าวที่ปลูกแบบปลอดภัยโดยไม่ใช้สารเคมีมอบให้แก่ โรงเรียนพระธาตุพิทยาคม ซึ่งเป็นโรงเรียนกินนอน นักเรียนเป็นเด็กชาวไทยภูเขา และโรงเรียนเชียงกลางประชาพัฒนา ได้ใช้ทำอาหารให้เด็กนักเรียนรับประทาน และส่วนหนึ่งมอบให้แก่ชุมชนเครือข่ายชวนกันทำดี โดยเฉพาะพี่น้องของกลุ่มชาติพันธ์ทั้ง 5 กลุ่มชาติพันธ์ ใน 9 หมู่บ้านของตำบลป่ากลาง อ.เชียงกลาง และ บ้านถ้ำเวียงแก อ.สองแคว ได้นำไปเป็นกล้าพันธุ์เพาะปลูกเกษตรปลอดภัยต่อไป นอกจากนี้ยังส่งเสริมการท่องเที่ยวสีเขียว เกษตรปลอดภัย โดยไม่ใช้สารเคมี ตามนโยบารัฐบาลในการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน และสถานประกอบการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นการนำทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น และชุมชน ร่วมกันในการอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี และทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น
ทั้งนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ของกลุ่มชาติพันธ์ การมอบเงินจัดตั้งกองทุนโครงการชวนกันทำความดี และกิจกรรมลานฮักกั๋น ปันสุข ของกลุ่มเยาวชนอำเภอเชียงกลาง ซึ่งเป็นเป็นลานสร้างสรรค์ในการปลูกฝังการเรียนรู้ในเรื่องการแบ่งปันและการให้
นายธวัช จรัสวรภัทร นายอำเภอเชียงกลาง กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลให้มีการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำทุนเดิมในด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งวัฒนธรรมประเพณีของแต่ละชุมชนมาแต่งเติมให้มีเสน่ห์ เพื่อเป็นจุดขาย เนื่องจากมองเห็นว่าการท่องเที่ยว จะทำให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น มีเศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น ซึ่งสิ่งที่ตามมาจะทำให้คนในชุมชนจะเกิดการเรียนรู้ร่วมกันในการอนุรักษ์ วัฒนธรรม ประเพณี และทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น และสร้างความรัก ความสามัคคี ให้เกิดกับคนในชุมชนอีกทางหนึ่ง การจัดกิจกรรมโครงการชวนกันทำดี ถือเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล การทำนา ปลูกข้าวถือว่าเป็นวิถีของชุมชนที่มีเสน่ห์น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเพณีที่แตกต่างของแต่ละชาติพันธุ์ เป็นเรื่องเล่า ที่ชวนสนใจน่าติดตาม เพราะวัฒนธรรม ประเพณีแต่ละชนเผ่าในการเกี่ยวข้าวหรือนวดข้าวมีความแตกต่าง มีเครื่องมือ รวมทังวิธีการที่แตกต่างกัน ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลถือเป็นภูมิปัญญา ภูมิรู้ของแต่ละชุมชน ที่มีการปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ ทำให้เกิดความน่าสนใจ และมีเรื่องเล่าดีๆที่นักเที่ยวอยากเรียนรู้ และรับฟังจากคนในชุมชน ซึ่งจะก่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในชุมชน และความประทับใจอย่างมากต่อนักท่องเที่ยว อีกทั้งยังช่วยปลุกกระแสการอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของชาวนานให้คงอยู่อย่างยั่งยืน