มท.1 นั่งหัวโต๊ะติดตามสถานการณ์อุทกภัยภาคใต้
6 ธ.ค. 2562, 14:15
วันนี้ (6 ธ.ค. 62) เวลา 09.00 น.ที่ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมข้อราชการและติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส โดยมี นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พลโท พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาค 4 เลขาธิการ ศอ.บต. พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี สตูล สงขลา และนายอำเภอ ผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดนราธิวาส เข้าร่วมการประชุม
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า ในขณะนี้จังหวัดในภาคใต้กำลังเผชิญกับอุทกภัย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจึงมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนในพื้นที่โดยได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยมาเยี่ยมให้กำลังใจพี่น้องประชาชนในเรื่องอุทกภัย และจะถือโอกาสได้พบปะพูดคุยกับข้าราชการ เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ด้วย และกระทรวงมหาดไทยพร้อมที่จะสนับสนุนในทุกด้าน ขอให้พื้นที่ได้เสนอมา
จากนั้น แม่ทัพภาคที่ 4 เลขาธิการ ศอ.บต. ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 5 จังหวัด และผู้ที่เกี่ยวข้องได้รายงานสถานการณ์ทั้งด้านอุทกภัย ความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และข้อเสนอในการขอรับการสนับสนุนด้านต่าง ๆ จากกระทรวงมหาดไทย
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวต่อว่า ในด้านความมั่นคง เรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ คือ การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อลด demand และ supply ไปพร้อมกัน การลงทะเบียนผู้เข้าออกในพื้นที่ เพื่อรักษาความสงบในพื้นที่ การดูแลความเรียบร้อยในพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่ชุดต่าง ๆ เช่น ชรบ. อส. และ ชคบ.ฯลฯ และเรื่องบุคคลสองสัญชาติ เป็นต้น ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ ต้องรู้ความต้องการของประชาชน โดยใช้กลไกสภาตำบล เพื่อตอบสนองต่อประชาชนในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด รวมถึงการเร่งให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ ด้านความเหลื่อมล้ำ ในเรื่องการเข้าถึงที่ดิน การเร่งรัดการพิสูจน์สิทธิ์ การเร่งจัดสรรที่ดินทำกินให้พี่น้องประชาชน และด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้ดำเนินการตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยให้มีการทำงานอย่างเป็นระบบตั้งแต่การติดตาม ป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟู
ด้านนายนิพนธ์ บุญญามณี กล่าวว่า ขอให้ทุกหน่วยงานดำเนินการขับเคลื่อนศูนย์ความปลอดภัยทางถนนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเตรียมเจ้าหน้าที่และงบประมาณเพื่อรองรับภารกิจนี้ เพื่อให้ลดความสูญเสียจากเหตุทางถนนให้ได้ ซึ่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมาพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) การจัดตั้งเทศบาล และจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ให้ดูแลความสงบเรียบร้อย ดูแลด้านการจราจร ซึ่งท้องถิ่นสามารถตั้งงบประมาณในการดูแลเรื่องดังกล่าวได้