"ชาวท่าข้าม" จัดทำหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง เดินตามรอยเท้าพ่อ จนประสบความสำเร็จ
6 ธ.ค. 2562, 14:32
นางราตรี เอ้งฉ้วน ประธานกลุ่มศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง หมู่ 5 ต.ท่าข้าม อ.ปะเหลียน จ.ตรัง พร้อมด้วย นายเด่น เสียมไหม กำนัน ต.ท่าข้าม และคณะทำงานหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง หมู่ 5 ต.ท่าข้าม นำผู้สื่อข่าวดูความก้าวหน้าหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง เดินตามรอยเท้าพ่อ ซึ่งได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ในหมู่บ้าน จนประสบความสำเร็จในหลายๆ ด้าน โดยแต่ละกิจกรรมจะมีครัวเรือนต้นแบบ เช่น ครัวเรือนต้นแบบด้านพลังงาน, ครัวเรือนต้นแบบการรับซื้อขยะรีไซเคิลในครัวเรือน, ครัวเรือนต้นแบบการคัดแยกขยะมูลฝอยและอนุรักษ์พลังงาน, ครัวเรือนต้นแบบน้ำหมักชีวภาพ และปลูกผักปลอดสารพิษ จากนั้นได้ขยายไปยังครัวเรือนอื่นๆ
โดยเฉพาะด้านการประหยัดพลังงาน เช่น การผันน้ำดิบมาใช้กับการเกษตรโดยดัดแปลงจักรยานมาปั่นสูบน้ำจากลำห้วย หรือการติดตั้งแผงโซล่าเซลขนาดเล็กไว้ใช้ในครัวเรือนเพื่อประหยัดพลังงาน โดยนำพลังงานสะอาด และพลังงานธรรมชาติแสงอาทิตย์มาใช้ในครัวเรือน และศูนย์เรียนรู้ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ประชาชน รวมทั้งบ้านต้นแบบการประหยัดไฟฟ้าในครัวเรือน โดยการถอดปลั๊กไฟทั้งหมดหลังการใช้งาน มีการทำปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เองในครัวเรือน มีการจัดการขยะจนบางครัวเรือนได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ เป็น ทสม.(อาสาสมัครทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน) ต้นแบบการรับซื้อขยะรีไซเคิลในครัวเรือนมาคัดแยกและส่งขายเพื่อลดปัญหาขยะในพื้นที่ จนทำให้เป็นอาชีพหลักในการประกอบอาชีพเลี้ยงดูครอบครัว
นอกจากนั้น ยังมีการปลูกพืชผักสวนครัว รวมทั้งปลูกแซมในสวนยางพารา โดยไม่ใช้สารเคมี ทั้งไว้รับประทานในครัวเรือน เพื่อประหยัดรายจ่าย และขายสร้างรายได้เสริม มีการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะเป็ด ซึ่งนอกจากจะได้ไข่แล้ว ยังช่วยกำจัดวัชพืชในแปลงสวนยางแบบธรรมชาติ โดยการล้อมขังเป็ดไว้เป็นบริเวณกว้างในพื้นที่ที่มีหญ้าขึ้นรก สุดท้ายหญ้าจะตายทั้งหมด โดยไม่ต้องใช้ยาฆ่าหญ้ากำจัดวัชพืช และดินยังได้ปุ๋ย ทำให้อุดมสมบูรณ์ ตลอดจนมีการดูแลครัวเรือนยากจน ผ่านโครงกาบ้านพอเพียง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เฉพาะที่ต.ท่าข้าม อ.ปะเหลียน คณะกรรมการบ้านพอเพียง สามารถบริหารจัดการงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรสำหรับการสร้างบ้านพอเพียงให้แก่ครัวเรือนยาก จนได้เกินเป้าหมายที่ได้รับงบประมาณมา เช่น ในปี 2562 ได้รับงบประมาณสร้างบ้านพอเพียงมาทั้งตำบล 21 ครัวเรือน จำนวนเงิน 3.9 แสนบาท แต่สร้างได้จริงมากถึง 27 หลัง
นางราตรี เอ้งฉ้วน ประธานกลุ่มศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง กล่าวว่า ที่บ้านของตนซึ่งทำเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เดินตามรอยเท้าพ่อ และเป็นศูนย์เรียนรู้พลังงานชุมชนด้วยนั้น ตนเองใช้วิธีปั่นจักรยานเพื่อสูบน้ำจากลำห้วยข้างบ้านขึ้นมา สำหรับรถน้ำต้นไม้ภายในศูนย์ฯ ซึ่งได้ออกกำลังกายด้วย และประหยัดพลังงาน รวมทั้งได้ติดตั้งแผงโซล่าเซลเล็กๆ ขนาด 15 แอมป์ ไว้สำหรับเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ตอนกลางวัน เพื่อใช้เปิดเป็นไฟส่องสว่างในตอนกลางคืน แทนการเปิดไฟฟ้าธรรมดา ทำให้ประหยัดค่าไฟได้เป็นอย่างมาก ทำให้ค่าไฟเหลือประมาณ 350 บาทต่อเดือน แต่หากใช้ไฟธรรมดา ค่าไฟต่อเดือนจะตกประมาณ 900-1,000 บาท