"เกษตรกรนครพนม" สุดเจ๋ง! พัฒนามาตรฐานการเลี้ยงจิ้งหรีด เล็งส่งออกตลาดสิงคโปร์ (คลิป)
6 ธ.ค. 2562, 16:05
วันที่ 6 ธันวาคม 2562 นายสุขใจ ไชยวารี ประธานกลุ่มแปลงใหญ่แมลงเศรษฐกิจ (จิ้งหรีด) ต.โพนทอง อ.เรณูนคร จ.นครพนม เปิดเผยว่า การเลี้ยงจิ้งหรีดมีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยากอะไรมากมายแต่ต้องใส่ใจกับการดูแลอยู่เสมอ ที่สำคัญคือสามารถเลี้ยงได้ทุกเพศทุกวัย เดิมทีชาวบ้านในพื้นที่มีการเลี้ยงจิ้งหรีดอยู่แล้วแต่ไม่มากนัก พอกรมส่งเสริมการเกษตรและสำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม เข้ามาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำเกษตรแปลงใหญ่ ชาวบ้านในพื้นที่จึงได้มีการปรึกษาหารือและรวมกลุ่มกัน โดยเริ่มต้นมีสมาชิก 30 ราย
จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็เข้ามาอบรมให้ความรู้ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ลักษณะของโรงเรือนที่ดี ขั้นตอนการเลี้ยง การให้อาหาร การให้น้ำ ช่องทางการตลาด การคัดแม่พันธุ์จิ้งหรีด และการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต ซึ่งเมื่อทุกคนมีองค์ความรู้แล้ว ก็ได้นำงบประมาณที่ได้รับมาสร้างโรงเรือนและบ่อเลี้ยงเพิ่มเติมจากที่มีอยู่ นำไปซื้ออุปกรณ์ในการเลี้ยงอื่น ๆ ซึ่งหลังดำเนินการมาได้สักระยะปรากฏว่าสมาชิกในกลุ่มทุกรายมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้เพื่อนบ้านสนใจและหันมาเข้าร่วมกลุ่มเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีสมาชิก 50 ราย
สำหรับการเลี้ยงนั้นทุกคนจะเน้นกระบวนการผลิตที่มีความสะอาดเป็นหลัก มีการต่อระบบให้น้ำด้วยท่อ PVC เพื่อป้องกันน้ำไปเปื้อนกับแผงไข่ที่ใช้เลี้ยงจิ้งหรีด ส่วนอาหารก็จะมีการคำนวณให้พอดีกับการเลี้ยงจิ้งหรีดในแต่ละวัน เพื่อไม่ให้เหลือตกค้างและลดค่าใช้จ่าย หมั่นทำความสะอาดบ่อเลี้ยงอยู่เสมอ เพื่อลดอัตราการตายของจิ้งหรีด ที่สำคัญคือมีการพัฒนาต่อยอดแมลงเศรษฐกิจตัวอื่นๆ เพิ่มเติม คือ สะดิ้งและจิโก่ง รวมถึงมีการแปรรูปสินค้าให้มีความหลากหลายสำหรับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น จิ้งหรีดน็อคสด จิ้งหรีดอบกรอบ จิ้งหรีดต้ม น้ำพริกจิ้งหรีด และปุ๋ยมูลจิ้งหรีด โดยในอนาคตเตรียมจะแปรรูปเป็นข้าวเกรียบและจิ้งหรีดบดผง สำหรับการจำหน่ายนั้นทางกลุ่มจะมีลูกค้าสั่งจองล่วงหน้ามาจากจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดอื่นทั่วประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว โดยรายได้เฉลี่ยจะอยู่ที่บ่อละประมาณ 1,800 บาท ซึ่งแต่ละคนจะเลี้ยงประมาณ 10 -12 บ่อ นั้นหมายถึงแต่ละคนจะมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 18,000 – 21,600 บาทต่อการเลี้ยง 45 วัน
ขณะเดียวกันทางกลุ่มมองว่าตลาดจิ้งหรีดยังสามารถเติบโตได้อีกไกลเพราะมีความต้องการของตลาดสูง จึงได้มีการประสานไปที่ตลาดของประเทศสิงคโปร์ เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่าย แต่ยังไม่สามารถนำไปจำหน่ายได้ เนื่องจากสินค้าต้องผ่านมาตรฐานการควบคุมการผลิต (GMP) และมาตรฐานความปลอดภัยเสียก่อน ดังนั้นสมาชิกในกลุ่มที่มีความพร้อมมากที่สุด จึงได้เริ่มดำเนินการขอมาตรฐาน GMP ก่อน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการอนุมัติ ส่วนฟาร์มที่เหลือก็กำลังเร่งพัฒนาตนเองไปให้ถึงจุดนั้นพร้อม ๆ กัน เพื่อที่ทุกคนจะได้มีรายได้ที่มั่นคงและสูงมากกว่าที่เป็นอยู่