เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"องค์กรครูทั่วประเทศ" ยื่นหนังสือพิทักษ์สิทธินักเรียน บุคลากรทางการศึกษาถึง รมว.ศธ. นายก รมต.ให้ยกเลิกคำสั่งการปฎิรูปการศึกษา


7 ธ.ค. 2562, 08:24



"องค์กรครูทั่วประเทศ" ยื่นหนังสือพิทักษ์สิทธินักเรียน บุคลากรทางการศึกษาถึง รมว.ศธ. นายก รมต.ให้ยกเลิกคำสั่งการปฎิรูปการศึกษา




เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิสัย  เขตสกุล เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.)  เปิดเผยว่า ตนเห็นว่า กระทรวงศึกษาธิการ เป็นกระทรวงที่อาภัพ มีอาถรรพ์มากมาย เป็นแห่งเดียวที่โดนกระทำจากผู้มีอำนาจ ทำให้การเดินก้าวย่างไม่มีความก้าวหน้าดังเช่นกระทรวงอื่น ๆ ที่ไม่เคยโดนกระทำจากนักคิดซึ่งไม่เคยปฏิบัติ รู้สึกสงสาร ข้าราชการ และทุกตำแหน่งที่ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กระทรวงเสมาฯขวัญกำลังใจ หดหายไปมัวพะวงหลายอย่าง ทั้งห่วงนักเรียน ทั้งห่วงนโยบาย ที่จะกระทบลิดรอนสิทธิ์ของนักเรียน ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ยังไม่มีอะไรนิ่งและแน่นอน ทั้งโครงสร้างกระทรวง ทั้งหลักสูตรการศึกษา ทั้งกรอบและเกณฑ์ต่างๆที่ นำมาบังคับใช้ กล่าวคือ โครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีความพยายามออกแบบให้เป็นอำนาจเดี่ยว สั่งการจาก สป. ซึ่งขอเรียนว่า  กระทรวงศึกษาธิการต้องเป็นกระทรวงต้นแบบ “กระทรวงประชาธิปไตย”จะต้องมีหลักการมีส่วนร่วมสำคัญที่สุด และมีองค์คณะบุคคลที่มีภาคีทุกฝ่ายร่วมเป็นกรรมการ ถือเป็นกระทรวงพิเศษที่จำเป็นต้องใช้ระบบ และระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง จึงจะปลูกฝังและหล่อหลอมนักเรียนให้เป็นพลเมืองดีต่อไปได้  จะเห็นได้ว่า ในระหว่างนี้นักเรียนที่จบ ม.6 ไม่เลือกเรียนคณะคุรุศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ เหมือนเช่นก่อนหน้านี้ที่คนซึ่งได้คะแนนสูงสุดจะเลือกเรียนวิชาครูเป็นอันดับต้น ๆ



เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.)  เปิดเผยต่อไปว่า แนวคิดที่ว่าจะใช้หลักเกณฑ์ “หนี้สิน” เป็นตัวกำหนดคุณสมบัติคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษา ควรมีหนี้ไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน นั้น ตนเห็นว่าช่างไปกันใหญ่  ตนไม่เห็นด้วยที่จะเอาหนี้สินมาวัดค่าความเป็นมนุษย์ในศักยภาพความสามารถในการจัดการศึกษาของผู้บริหารสถานศึกษาเลย ไม่มีงานวิจัยใดที่มีนัยสำคัญว่า “ คนมีหนี้บริหารโรงเรียนแย่ คนไม่มีหนี้บริหารโรงเรียนยอด” ดังนั้น ไม่ควรที่จะมาสร้างเกณฑ์ ที่ทำให้คนดีคนเก่งอยากมาเป็นผู้บริหารเลย ข่าวหน้าหนึ่ง หรือในโซเชียลล้วนมีความพยายามทำให้วิชาชีพครูเป็นจำเลยสังคม  อีกทั้ง การมีนโยบายยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก เป็นอีกนโยบายที่รัฐ มีแต่ทำลาย ไม่เข้าไปช่วยไปสร้าง ไปเสริม ไปสนับสนุนให้เขาเกิดความเสมอภาค เท่าเทียม ให้โรงเรียนเหล่านั้นมีวัสดุ อุปกรณ์ บุคลากรเช่นเดียวกับโรงเรียนยอดนิยมที่ได้รับอย่างเพียงพอ “การจัดการศึกษา การจัดการพยาบาล” นั่นเป็นสิ่งที่รัฐพึงไม่คำนึงถึงกำไรขาดทุน กำไรคือผู้เรียนมีคุณภาพ ประชาชนสมบูรณ์แข็งแรงไม่มีโรคภัยได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียม เหล่านี้คือกำไร คือความมั่นคงของประเทศชาติ ถ้าพลเมืองไม่เข้มแข็งมีคุณภาพอยากที่ประเทศจะเจริญก้าวหน้าได้  สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.)เป็นองค์กรเพื่อวิชาชีพครูและสังคม เป็นห่วงในสถานะของผู้เรียน ของผู้ปกครอง ของชุมชน ตลอดจนครูและบุคลากรทางการศึกษา ของกฎหมาย คำสั่ง พระราชบัญญัติ ที่จะมากระทบทำให้เกิดความเดือดร้อน ในหลายๆด้าน โดยเฉพาะเกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่มีส่วนร่วมของผู้ประกอบวิชาชีพ  ตนและคณะจึงขอเรียกร้องในสิทธิของผู้เรียน สิทธิผู้ปกครอง สิทธิของชุมชน สิทธิของผู้บริหารการศึกษา สิทธิของผู้อำนวยการโรงเรียน สิทธิของครูและบุคลากรทางการศึกษา สิทธิของผู้เกี่ยวข้อง โดยนัดหมายองค์กรครูระดับประเทศ องค์กรครูระดับภาค องค์กรครูระดับจังหวัด องค์กรครูระดับอำเภอ ได้ถือเอาสัปดาห์ของวันรัฐธรรมนูญ กำหนดการยื่นพร้อมกันในวันที่ 12 ธ.ค. 2562  ณ จังหวัดที่องค์กรตั้งองค์กรจังหวัดให้กับ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธาน กศจ.ในส่วนของ ส.ค.ท.จะยื่นหนังสือที่ส่วนกลาง ให้กับประธานกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฏร ประธานกรรมการธิการกฎหมาย การยุติธรรม  และสิทธิมนุษยชน  ประธานอนุกรรมาธิการกฎหมายการศึกษา  รมว.ศึกษาธิการ นายก รมต. ในการเรียกร้องดังนี้คือ ให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 เรื่อง การปฎิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวง ศึกษาธิการ โดยเร็วเพื่อให้การศึกษาของชาติเดินหน้าได้ และให้ยกเลิก หรือชะลอ มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2562 เรื่อง ให้ สพฐ.พิจารณาควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ออกไปก่อนจนกว่าจะมีแนวทางที่ชัดเจน มีสิ่งรองรับความพร้อมของทุกฝ่าย  ให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนโดยแท้จริง  และให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงต้นแบบของระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ด้วย







Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.