เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



มท.เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล


9 ธ.ค. 2562, 18:03



มท.เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล




วันนี้ ( 9 ธ.ค.62 ) เวลา 09.30 น. พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล (ประเทศไทย) ณ อิมแพ็คเอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 6 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี เพื่อมอบรางวัลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ 2562 และนำกล่าวคำประกาศเจตนารมณ์ในการต่อต้านการทุจริต จัดโดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาล สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อประกาศเจตจำนงของผู้นำประเทศและผู้นำทุกภาคส่วนในการป้องกัน แก้ไข และปราบปรามการทุจริต ผสานพลังคนไทยและทุกภาคส่วน ให้ตื่นรู้ พร้อมต่อต้านการทุจริตในทุกรูปแบบ เพื่อให้สังคมไทยมีวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริต ตลอดจนให้คนไทยและนานาชาติ รับรู้ถึงความมุ่งมั่นและการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในประเทศไทย โดยมี พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้กล่าวต้อนรับและชี้แจงวัตถุประสงค์การจัดงาน



โอกาสนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวความตอนหนึ่งว่า ปัญหาการทุจริตถือเป็นปัญหาร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน อีกทั้งยังได้สร้างความเสียหาย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการศึกษาในภาพรวมของประเทศ ที่ผ่านมาสังคมไทยได้เกิดวัฒนธรรมที่ยอมรับการทุจริต อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว โดยกำหนดให้เป็นนโยบายหลัก ด้านที่ 12 ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และ กระบวนการยุติธรรม และนโยบายเร่งด่วน เรื่องที่ 8 ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในแวดวงราชการ ทั้งฝ่ายการเมือง และฝ่ายราชการประจำ ที่ต้องแก้ไข ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญคือการสร้างการรับรู้ถึงพิษภัยของการทุจริต ซึ่งหน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการร่วมกับรัฐบาลอย่างจริงจัง เพื่อให้การต่อต้านการทุจริตเป็นวัฒนธรรมของสังคมไทยต่อไปในอนาคต โดยรัฐบาลได้วางเป้าหมายในการยกระดับค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ให้มีค่าไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 เมื่อสิ้นสุดแผนฯ ดังกล่าว ในปี 2564

นอกจากนี้ แนวทางในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือแนวทางประชารัฐ ซึ่งต้องอาศัยการรวมพลังจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคเอกชน โดย “รัฐ” หรือ “รัฐบาล” จะเป็นผู้อำนวยความสะดวก สนับสนุน และเปิดช่องทางให้ “ประชา” หรือภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบการทำงานของรัฐ ตลอดจนมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายประชารัฐในทุกด้าน ทุกพื้นที่ อันจะเป็นกลไกสำคัญที่เชื่อมโยงและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน และถือเป็นการทำงานร่วมกันในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างยั่งยืน







Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.