มหาดไทย รณรงค์เสริมสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัย เนื่องในวันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ ปี 62
26 ธ.ค. 2562, 13:12
วันนี้ ( 26 ธ.ค.62 ) ที่กระทรวงมหาดไทย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 26 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ เนื่องจากเป็นวันที่เกิดภัยพิบัติครั้งรุนแรงที่สุดของประเทศไทย คือ เหตุการณ์ “สึนามิ” เมื่อปี 2547 หรือเมื่อ 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิต ทรัพย์สินของประชาชนและนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก กระทรวงมหาดไทยจึงได้จัดทำแผนงานเพื่อใช้เป็นแนวทางการจัดกิจกรรมรณรงค์เสริมสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทุกจังหวัดทั่วประเทศ และกำหนดให้ทุกจังหวัด จัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ปลูกจิตสำนึกด้านความปลอดภัย และสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยแก่ประชาชน ให้ตระหนักถึงความสูญเสียจากภัยพิบัติ รู้จักการป้องกันตนเองและเตรียมความพร้อมของชุมชนในการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติทั้งภัยที่เกิดจากธรรมชาติและภัยที่เกิดจากมนุษย์ จึงขอถือโอกาสนี้ในการเชิญชวนประชาชนได้ตระหนักรู้และเตรียมความพร้อมในการรับมือจากภัยพิบัติต่าง ๆ
รวมถึงร่วมกันสร้างจิตสำนึกการดำเนินชีวิตที่ปลอดภัยและพัฒนาไปสู่วัฒนธรรมความปลอดภัยพร้อมกันทั่วประเทศ โดยทุกจังหวัดได้จัดให้มีกิจกรรมเช่น การให้ความรู้ ฝึกทักษะ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามความเสี่ยงภัยของแต่ละพื้นที่ การจัดนิทรรศการให้ความรู้ การสาธิตการใช้อุปกรณ์เครื่องมือในการกู้ชีพกู้ภัย และแสดงผลิตภัณฑ์เพื่อการป้องกันอุบัติภัยจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายเพื่อให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการสร้างความปลอดภัยในพื้นที่
ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบสารเนื่องในโอกาสวันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ ประจำปี 2562 เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญการเตรียมความพร้อมป้องกันอุบัติภัยและร่วมกันสร้างวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยให้เกิดขึ้น โดยมีความตอนหนึ่งว่ารัฐบาลได้มีเป้าหมายสำคัญในการป้องกันอุบัติภัยและยกระดับความปลอดภัยสู่มาตรฐานสากล ไปจนถึงได้วางแนวทางการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด ตลอดจนสร้างการรับรู้ และปลูกฝังจิตสำนึกด้านความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในการดำเนินชีวิตประจำวัน และต้องการให้ทุกภาคส่วนในสังคมทุกระดับบูรณาการลดความเสี่ยงภัย และรู้จักการเตรียมความพร้อมป้องกันตนเอง การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยระหว่างเกิดภัยและหลังเกิดอุบัติภัยต่าง ๆ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เป็นเครื่องมือช่วยให้การเตือนภัยและการเฝ้าระวังมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้พี่น้องประชาชนทุกคนดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติสุข