เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สวพส. เปิดแหล่งเรียนรู้พืชผักปลอดภัย "บ้านใหม่" จ.น่าน ชุมชนต้นแบบการ ลด ละ เลิก ใช้สารเคมี


17 ม.ค. 2563, 14:38



สวพส. เปิดแหล่งเรียนรู้พืชผักปลอดภัย "บ้านใหม่" จ.น่าน ชุมชนต้นแบบการ ลด ละ เลิก ใช้สารเคมี




16 ม.ค.63 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายวรกิตติ ศรีทิพากร ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานเปิดแหล่งเรียนรู้พืชผักปลอดภัย "บ้านใหม่" ชุมชนต้นแบบการ ลด ละ เลิก ใช้สารเคมี โดยการใช้องค์ความรู้จากโครงการหลวง ซึ่งจัดโดย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. นำโดย นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง มีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ดร.ประชา แสนกลาง นายอำเภอสองแคว หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน แกนนำและเครือข่ายภาคีเกษตรกร และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานเพื่อศึกษาดูงานและการถ่ายทอดเทคโนโลยีชุมชนต้นแบบ เป็นจำนวนมาก ณ ชุมชนต้นแบบบ้านใหม่ หมู่ 4 ต.นาไร่หลวง อ.สองแคว จ.น่าน

นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวว่า ชุมชนแห่งนี้ สภาพปัญหาเดิมคือการเกษตรเชิงเดี่ยว คือปลูกข้าวโพดที่มีการใช้สารเคมีและรายได้ที่ไม่เพียงพอ ส่งผลต่อสุขภาพของคนในหมู่บ้านและหนี้สินครัวเรือน แต่ชุมชนมีความเข้มแข็ง และทำประชาคมหมู่บ้านเพื่อจะแก้ไขปัญหา โดยเริ่มในช่วงปี 2552 เป็นปัจจัยและจุดเริ่มต้นที่สำคัญ  และทางสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ได้นำองค์ความรู้และงานวิจัยที่เป็นรูปธรรมจากโครงการหลวง มาปรับใช้ให้เหมาะสมในการพัฒนาพื้นที่ของหมู่บ้านแห่งนี้ ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี มีการปรับปรุง แก้ไข พัฒนาอย่างต่อเนื่องจนทำให้หมู่บ้านใหม่ สามารถลดพื้นที่การปลูกข้าวโพดและลด ละ เลิกการใช้สารเคมีได้สำเร็จ มีการปรับพื้นที่ปลูกผักปลอดภัยเพื่อการบริโภคในชุมชนและขายผลผลิตออกไปยังพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้ชาวชุมชน มีสุขภาพที่ดีขึ้น ซึ่งมีผลการตรวจวัดสารเคมีปนเปื้อนและตกค้างในกระแสเลือดเป็นตัวชี้วัดได้ และหนี้สินครัวเรือนลดลง จากการลดต้นทุนการผลิต เช่น ค่าปุ๋ยค่ายา ค่าสารเคมี และมีรายได้เสริมจากการจัดตั้งตลาดร้านค้าชุมชน เพื่อนำผลผลิตผักปลอดภัย ผลผลิตไม้ผล พริกหวาน องุ่น มะนาว นำไปจำหน่าย ซึ่งจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ทำให้ชุมชนบ้านใหม่ เป็นชุมชนที่ทั้งหมู่บ้านพร้อมใจกันลด ละ เลิกใช้สารเคมี และปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่การเกษตรได้อย่างคุ้มค่าและยั่งยืน  

นางลำไย สุฤทธิ์ อายุ 65 ปี อยู่บ้านเลขที่ 10 ม.4 บ้านใหม่ ต.นาไร่หลวง อ.สองแคว จ.น่าน เล่าว่า ก่อนหน้านี้ปลูกข้าวโพดหลายไร่ มีปัญหาเรื่องสุขภาพ และตรวจพบสารตกค้างปนเปื้อนในกระแสเลือดมาก เมื่อเข้าร่วมโครงการหลวงวังไผ่ บ้านใหม่ ได้ปรับลดพื้นที่การเกษตรปลูกผักปลอดภัย เหลือเพียง 1 ไร่ และลดเลิกใช้สารเคมี ปัจจุบันสุขภาพดีขึ้น และไม่พบสารตกค้างในเลือดอีก นอกจากนี้ยังได้เก็บผักปลอดภัย นำไปขายที่ตลาดร้านค้าชุมชนมีรายได้ด้วย

ชุมชนบ้านใหม่ ถือเป็นชุมชนต้นแบบโครงการหลวงและเป็นแหล่งเรียนรู้ ด้านการปรับระบบเกษตรที่ลด ละ เลิก การใช้สารเคมี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามแนวทางโครงการหลวงให้กับเกษตรกร หน่วยงาน และผู้สนใจทั่วไปในพื้นที่จังหวัดน่าน ได้เข้ามาศึกษาและเรียนรู้ เพื่อที่จะสามารถนำองค์ความรู้ของสถาบัน องค์ความรู้จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้ในงานพัฒนาพื้นที่สูง พร้อมทั้งเกิดเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันในพื้นที่จังหวัดน่านเพื่อขยายผลสำเร็จของการพัฒนาตามแนวทางโครงการหลวงต่อไป

สำหรับรายแปลงโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงวังไผ่ บ้านใหม่ ต.นาไร่หลวง อ.สองแคว จ.น่าน มีจำนวนเกษตรกร 34 ราย  จำนวนแปลงเกษตร 42 แปลง พื้นที่เกษตรทั้งหมด 267.07 ไร่ ซึ่งเป็นเกษตรกรทั้งหมู่บ้านที่ปรับเปลี่ยนจากไร่ข้าวโพด เป็นสวนผักปลอดภัย และได้จัดทำเป็นแหล่งเรียนรู้ เปิดโอกาสให้บุคคลและกลุ่มคณะเข้าศึกษาดูงานได้ โดยจัดทำเป็น 10 ฐาน ได้แก่ ฐานที่ 1 องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูง, ฐานที่ 2 ผักปลอดภัย, ฐานที่ 3 การปรับปรุงดินและการผลิตปุ๋ย, ฐานที่ 4 พืชไร่บนพื้นที่สูง, ฐานที่ 5 อุตุนิยมวิทยาเพื่อการพัฒนาบนพื้นที่สูง, ฐานที่ 6 การลดใช้สารเคมีและการใช้สารชีวภัณฑ์เกษตร, ฐานที่ 7 มาตรฐานผลผลิตที่มีคุณภาพ, ฐานที่ 8 ชุมชนต้นแบบการพัฒนาพื้นที่สูง, ฐานที่ 9 ตลาดชุมชน และฐานที่ 10 การปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมศึกษาดูงานภายในแปลงปรับระบบการปลูกพืชจากพืชไร่สู่การทำสวนไม้ผลแบบผสมผสานของ “นายเผชิญ ระลึก” ผู้นำเกษตรกรบ้านใหม่

นอกจากนี้ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ยังมีพื้นที่ศึกษาดูงานในจังหวัดน่าน อีก 11 พื้นที่ ใน 9 อำเภอ 96 หมู่บ้าน ซึ่งในแต่ละพื้นที่มีบริบทการพัฒนาที่แตกต่างกัน โดยการใช้องค์ความรู้ และกระบวนการเรียนรู้จากโครงการหลวงผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูง ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งก่อให้เกิดการดำเนินการระหว่างหน่วยงานและชุมชน ช่วยให้ชุมชนสามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างยั่งยืน

 




 






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.