หวั่นปริมาณน้ำเหลือน้อยแล้งนี้!! พบประตูระบายรั่วไหล จนท.ต้องเร่งสำรวจและซ้อมแซม
18 ม.ค. 2563, 17:14
วันนี้ 18 มกราคม 2563 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่าสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งพบว่าหลายแหล่งปริมาณน้ำเริ่มลดลง เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ภาวะหน้าแล้งแล้ว แม้ว่าปัจจุบันปริมาณน้ำอ่างเก็บน้ำหลักทั้ง 17 แห่ง ปริมาณน้ำยังคงเพียงพอและเป็นไปตามแผนบริหารจัดการน้ำ จนถึงสิงหาคม 2563นี้ ซึ่งปัจจัยหลักคือสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงการระเหยของน้ำรวดเร็วทำให้ปริมาณน้ำลดลง และก็ยังพบว่าประตูระบายน้ำในอ่างเก็บน้ำบางแห่งยังคงมีน้ำรั่วไหลออกจากอ่างเก็บน้ำจำนวนมากต่อวัน ต้องเร่งแก้ไขและซ้อมแซม
เช่นที่อ่างเก็บน้ำลำพอก ในพื้นที่ตำบลยาง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งอ่างขนาดกลางที่มีความสำคัญในพื้นที่ มีขนาดความจุ 14 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำกักเก็บที่ 11 ลูกบาศก์เมตร และมีการปิดประตูระบายน้ำทั้ง 3 บาน เพื่อทำการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งนี้ แต่ก็พบว่าประตูระบายน้ำแต่ละบานทั้ง 3 บาน เกิดมีรอยรั่ว ทำให้มีน้ำไหลออกจากอ่างเก็บน้ำต่อเนื่องในแต่ละวัน
โดยที่ทางด้านโครงการชลประทานจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งรับผิดชอบ ได้ประสานเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบเพื่อหาแนวทางในการซ่อมแซมเร่งด่วน สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ได้กำชับให้มีการสำรวจแหล่งน้ำต่างๆซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดและจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำ เน้นย้ำทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ ซึ่งขณะนี้เริ่มเข้าสู่สถานการณ์ภัยแล้งแล้ว ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน จัดทำแผนเผชิญเหตุระดับหน่วย ระดับอำเภอ และแผนเผชิญเหตุของจังหวัด รวมทั้งให้ตรวจสอบเครื่องจักรเครื่องมือต่างๆ ทั้ง รถน้ำ เครื่องสูบน้ำ รวมทั้งบุคลากร ให้อยู่พร้อมปฏิบัติงานได้ตลอดเวลา โดยหน่วยงานในระดับพื้นที่ จะต้องเข้าไปดำเนินการในเชิงป้องกันก่อนที่จะเกิดปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาวิกฤตขาดแคลนน้ำเหมือนปีที่ผ่านมา
ในภาพรวมน้ำในอ่างเก็บน้ำจังหวัดสุรินทร์ จำนวน 17 แห่ง มีจำนวน 108.86 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 74.62 ของความจุ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์บวกเป็นไปตามแผนบริหารจัดการน้ำ สำหรับน้ำที่ใช้ผลิตน้ำประปาบริการประชาชนในเขตเมืองสุรินทร์ จากอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ปริมาณน้ำมี20 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 91% ของความจุ และอ่างอำปึล ปริมาณที่ 28 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 101 % ของความจุ